Thursday, June 27, 2013

Review: Hostage to Pleasure


Hostage to Pleasure
Hostage to Pleasure by Nalini Singh

My rating: 4 of 5 stars



นี่เป็นส่วนหนึ่งของซีรีย์ของการอ่านซ้ำค่ะ ดังนั้นรีวิวแบ่งออกเป็นสองช่วงนะคะ อันแรกก็คือรีวิวที่เราเขียนเอาไว้เมื่อหลายปีก่อน ตอนที่อ่านหนังสือเล่มนี้ครั้งแรก ซึ่งความเห็นอาจจะเหมือน หรือต่างจากสิ่งที่เราคิดหลังจากนำกลับมาอ่านอีกรอบก็ได้ค่ะ (ส่วนใหญ่จะเหมือนกัน)


หนังสือเล่มที่ห้าในชุด Psy & Changeling ที่ยิ่งเขียนก็ยิ่งน่าติดตาม พรสวรรค์ของนรินี ซิงค์ก็คือการเขียนโดยไม่ปล่อยข้อมูลออกมามากหรือน้อยเกินไป มันพอเหมาะพอเจาะกับความต้องการของเนื้อเรื่อง ไม่ทำให้เกิดอาการงุนงง (อย่างงานชุด Warriors of Poseidon ของอลิสา เดย์) หงุดหงิด (อย่างชุดดาร์คฮันเตอร์ของเชอริลีน เคนย่อน) หรือลงแดงด้วยอาการอยากรู้ (อย่างชุด BDB ของเจอาร์ วาร์ด)

โลกที่นรินีสร้างในชุดนี้กว้างใหญ่ หาติดตาม และสร้างสรรที่สุดในบรรดาหนังสือชุดแนวพารานอมอลที่แม็กซ์เคยได้อ่านมา เรื่องราวของโลกมนุษย์ที่ถูกแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม พวกไซ กลุ่มมนุษย์ที่มีความสามารถทางพลังจิต พวกชาร์เลนจิ้ง หรือคนที่มีวิญญาณร่วมกับสัตว์ และแปลงร่างเป็นสัตว์ชนิดต่าง ๆ ได้ และสุดท้ายก็คือ มนุษย์ธรรมดาสามัญ

ในปี 2080 ชนทั้งสามกลุ่มใช้ชีวิตแยกจากกัน ชาวไซลุ่มหลงใน "ความเงียบ" พวกเขาเข้าร่วมลัทธิความเงียบอันนี้นับตั้งแต่เมื่อร้อยกว่าปีก่อน เพราะต้องการกำจัดคนที่เลวร้ายที่สุดในกลุ่มพวกเขา เพราะมันถูกพิสูจน์มาแล้วว่า เหล่าฆาตกรอำมหิตโรคจิตส่วนใหญ่ก็คือชาวไซ ผู้ซึ่งไม่สามารถควบคุมความสามารถพิเศษที่ตัวเองมีได้ ผู้บุกเบิกได้นำลัทธิ "ความเงียบ" เข้ามาแนะนำ และมันกลายเป็นทางออกสำหรับสังคมชาวไซที่ยุ่งเหยิง แต่การได้มาซึ่ง "ความเงียบ" ชาวไซสูญเสียความรู้สึก และอารมณ์ทุกชนิดไป พวกเขากลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่แตกต่างสิ่งของ ไม่มีอีกแล้วซึ่งงานศิลปะ เสียงเพลง ทุกอย่างเป็นไปตามธุรกิจ เงินตราเป็นสิ่งที่ชาวไซเข้าใจ

แต่ภายใต้ "ความเงียบ" ที่ครอบงำชาวไซทุกคน การปฏิวัติอย่างเงียบ ๆ ได้เกิดขึ้น ระบบที่ดำรงพวกเขาอยู่ในความเงียบ กำลังพังทลายลงอย่างช้า ๆ ชาวไซเริ่มรับรู้ถึงผลเสียของความเงียบที่ปิดกั้นความรู้สึกของพวกเขา ในขณะเดียวกันสภาผู้ปกครองก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อรักษาอำนาจของพวกเขา และจำกัดชาวไซให้คงอยู่ใน "ความเงียบ" ต่อไป

แม็กซ์อ่านหนังสือชุดนี้เรียงกันตั้งแต่เล่มหนึ่งนะคะ ก็เลยไม่แน่ใจว่า ถ้ามาเริ่มอ่านที่เล่มนี้เลยจะรู้เรื่องกันไหม แต่ก็บอกตามตรงนะคะ หนังสือชุดนี้ควรจะอ่านตั้งแต่เล่มแรก เพราะคุณจะชื่นชมกับความสามารถของนรินี ซิงค์ได้อย่างเต็มที่ วิธีการเล่าเรื่องของเธอเหนือกว่านักเขียนหลายคนที่แม็กซ์ยกย่องว่าเก่งด้วยซ้ำ

เรื่องราวในเล่มนี้ต่อเชื่อมกับเล่มก่อนหน้าอย่าง Mine to Possess พอสมควร โดยเฉพาะมันสปอยล์ตอนจบของเล่มนั้นด้วยนะ ดังนั้นคนที่ยังไม่เคยอ่าน MTP ก็ถือว่าแม็กซ์เตือนแล้วนะคะ

อชายา เอลีนเป็นนักวิทยาศาตร์ผู้ปราดเปลื่องชาวไซ เธอเป็นความหวังเดียวของสภาผู้ปกครองชาวไซในการรักษาฐานอำนาจของพวกเขาให้คงอยู่ ด้วยแผนการสร้างชิปที่จะครอบงำจิตใจชาวไซทุกคนให้คิดเหมือนกัน และถูกปกครองโดยสภาซึ่งเป็นองค์กรสูงสุด แต่อชายาไม่เคยสนับสนุนความคิดนี้ ทว่าเธอไม่มีทางเลือก เพราะ คีแนน ลูกชายของเธอโดนจับเป็นตัวประกัน

ความหวังของอชายามาพร้อมกับสัญญาที่พวกชาร์เลนจิ้งสัญญาไว้ในตอนจบของ MTP และก็เป็นหน้าที่ของดอเรียนในการช่วยเหลือคีแนนออกมาจากเงื้อมือของสภา ภารกิจที่เขาทำสำเร็จโดยไม่ยาก สิ่งที่เขาไม่คิดก็คือ เขาไม่อาจสลัดภาพของอชายาไปจากใจได้

เมื่อหลายเดือนก่อน (เหตุการณ์ในเรื่อง MTP) ดอเรียนเล็งปืนไปที่อชายา พร้อมจะปลิดชีวิตของเธอ ถ้าเธอทำผิดคำสัญญาที่ให้ไว้กับชาร์เลนจิ้ง และเขาไม่เคยลืมใบหน้าของเธอนับจากนั้น ดังนั้นเมื่ออชายาสามารถหนีรอดออกมาจากห้องทดลองที่เปรียบเสมือนห้องขังของเธอ ดอเรียนก็กลายเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองเธอในทันที

และสำหรับชายที่สูญเสียน้องสาวผู้เป็นที่รักให้กับฆาตกรโรคจิตชาวไซ (เหตุการณ์ในเล่มแรก Slave to sensation) การมอบใจให้กับชนกลุ่มเดียวกับคนที่ฆ่าน้องสาวเป็นสิ่งที่เขาแทบไม่อาจทำใจยอมรับได้ แต่ความเป็นเสือดาวในกายเขายอมรับอชายา แม้ความเป็นมนุษย์จะสับสนในความรู้สึกของตัวเองอยู่

อชายาเองก็เต็มไปด้วยความลับ ความลับที่มากยิ่งกว่าการทดลองลับที่เธอถูกสภาบังคับให้ทำ ซึ่งนั่นยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างเธอและดอเรียนยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปอีก เมื่อเธอบอกเขาว่า หนึ่งในความผิดที่เธอทำก็คือการปกป้องคนที่เลวร้ายในหมู่ชาวไซ (และฆาตกรที่ฆ่าน้องสาวของดอเรียนก็เป็นคนกลุ่มนั้น) แม้ว่าคนคนนั้นก็คือคู่แฝดของเธอเอง

พล็อตในเล่มนี้เป็นการหักเหลี่ยมกันระหว่างอชายา และสภาที่ตามล่าเธอ เพื่อปกป้องชีวิตของทุกคนที่เธอรับ อชายาเอาตัวเองเป็นเป้า เธอเปิดเผยต่อสังคมโดยรวมถึงภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากสภา ความเลวร้ายของโครงการนั้น แต่นั่นกลับเป็นการทำให้เธอตกอยู่ในอันตรายมากขึ้น โดยเฉพาะจากกลุ่มสมาคมลับที่เพิ่งเปิดตัวในเล่มนี้

ในแง่ของการสร้างโลกในเรื่อง แม็กซ์คิดว่า เล่มนี้ไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรเพิ่มเติมมากนัก (โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับ MTP) แต่เป็นการเล่นในแง่ความรู้สึกของตัวละครมากกว่า ความสับสนของดอเรียน ทางเลือกของอชายาที่ต้องเลือกระหว่างดอเรียน, ลูกชายของเธอ, และคู่แฝดของเธอเอง

เล่มนี้ดีกว่าที่คิดมากค่ะ คะแนนที่ 80



และนี่คือความคิดของเรา หลังจากนำกลับมาอ่านใหม่อีกรอบ

เราไม่คาดหวังว่า ตัวเองจะชอบอชายานะคะ เธอเป็นนางเอกคนแรกในชุดที่ถือว่า มีบทบาทสำคัญไม่น้อยในเล่มก่อนหน้า และตัวตนของเธอที่แสดงออกมาในเรื่อง Mine to Possess ก็ทำให้เราไม่แน่ใจว่า เธอคือนางเอกที่คู่ควรกับดอเรียน แม้ว่าในเล่มนั้น เรื่องจะแสดงอย่างชัดเจนว่า เธอไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการลักพาตัวเด็ก ๆ มาทรมาน แต่ตัวตนที่แสดงออกในเล่มนั้น ความเย็นชาอย่างชาวไซของเธอ ทำให้เราไม่ชอบเธอมากนัก

แต่ก็เหมือนกับหลายครั้งที่เรารู้สึกไปก่อนล่วงหน้า เรายอมจำนนต่อเรื่องราวที่นลินี ซิงห์เขียนค่ะ เราพบว่า เมื่อได้รู้จัก และเห็นความคิดของเธอมากขึ้น เข้าใจในสถานการณ์ที่เธอประสบ และความเสี่ยงมากมายที่เธอต้องยอมรับเอาไว้ เราใจอ่อนให้เธอในที่สุดค่ะ

นอกจากนี้เล่มนี้ยังทำให้ผิดคาดนะคะ เพราะทุกเล่มก่อนหน้า ตัวร้ายใหญ่ก็คือสภาชาวไซ ที่มีเหตุจะต้องงัดข้อกับกลุ่มเชนจิงค์อยู่ตลอด มาในเล่มนี้ แม้ว่าอชายาจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานให้สภา และหลบหนีออกมาพึ่งพาชาวเชนจิ้งค์ ตัวร้ายแท้จริงกลับกลายเป็นกลุ่มกองกำลังมนุษย์ ที่คิดจะใช้อชายาเป็นเบี้ยในการตอบโต้ชาวไซที่กดขี่พวกเขา

เราชอบความคลุมเครือของเนื้อเรื่อง เพราะหากจะให้โทษกลุ่มมนุษย์ว่า เป็นคนเลว และชั่วร้ายก็ไม่ถูกต้องนัก เมื่อคิดถึงสิ่งที่พวกเขาโดนกระทำโดยชาวไซ (ยิ่งถ้าอ่านเรื่อง Tangled of Need ประเด็นนี้จะยิ่งชัดเจน) แต่วิธีการของพวกเขาไม่ถูกต้องทั้งหมด การหลอกใช้สมาชิกผู้ภักดีขององค์กร และมนุษย์ด้วยกันเป็นเบี้ย ทำให้พวกเขากลายเป็นตัวร้ายในที่สุด

เราชอบคาแร็คเตอร์ของอมารา นั่นทำให้เรากลายเป็นคนที่น่ากลัวไปรึเปล่า ก็ไม่รู้นะคะ เหตุผลใหญ่ที่เรารู้สึกสื่อถึงตัวตนของเธอ อาจจะเป็นเพราะว่า ในแง่หนึ่งในใจของเรา เราเปลี่ยนเทียบคาแร็คเตอร์ของอมารากับเคเลบ เรารู้สึกเหมือนเห็นบางสิ่งที่คล้ายคลึงกันของทั้งสองคน อย่างไรก็ตาม เล่มนี้ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เธอไม่น่าจะกลายเป็นตัวเอกที่ดำเนินเรื่องได้ ด้วยมาตรฐานทางศีลธรรมที่ต่ำเกินไป แต่เรายังไม่ได้คิดเช่นนั้นกับคาแร็คเตอร์ของเคเลบนะคะ

จุดเปลี่ยนสำคัญอีกอย่างนึงในเล่มนี้เกี่ยวกับสภาชาวไซ เมื่อเฮนรีได้ทำความรู้จักกับกลุ่มเพียวไซ (ซึ่งเราไม่คิดเอาเสียเลยนะคะว่า เจ้ากลุ่มนี้จะกลายเป็นเรื่องใหญ่มาก ๆ ในชุดนี้ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เจ้าพาสเวิร์ดที่เฮนรีใช้ F_GALTON1882 มีความหมายอะไรเป็นพิเศษไหม) และเขาขึ้นเป็นผู้นำเหนือชอร์ชานา ในความสัมพันธ์เพื่อผลประโยชน์ของทั้งคู่

และก็เหมือนกับรายละเอียดหลาย ๆ อย่างที่เราจับความสำคัญไม่ได้ตั้งแต่ตอนอ่านครั้งแรก เราไม่เคยคิดนะคะว่าเอแคทรินา ผู้ชายของอชายาจะกลายเป็นคาแร็คเตอร์สำคัญในเวลาต่อมาในชุด ซึ่งนั่นรวมไปถึงว่า เล่มนี้เป็นครั้งแรกที่เอเดนออกมามีบทบาท แต่เราให้อภัยตัวเองนะคะ ที่จำเขาไม่ได้ ก็เรื่องไม่ได้บอกชื่อให้ด้วยนี่นา แต่การกลับมาอ่านอีกครั้ง หลังจากที่เราได้รู้จักเอเดน (และรู้ถึงความสำคัญที่เขามีต่อหน่วยแอโรว์) ก็เป็นเล่มนี้แหละที่เปิดเผยความสามารถพิเศษที่ซ่อนเอาไว้ของเขา

เล่มนี้ถูกใจเราเพราะนำเสนอความหลากหลายเพิ่มมากขึ้นในโลกของเรื่องในชุด ไม่ได้แค่จำกัดอยู่ที่ชาวไซ และเชนจิ้งค์ แต่ตัวแปรสำคัญคือกลุ่มกองกำลังติดอาวุธของเหล่ามนุษย์ได้เข้ามามีบทบาทแล้ว

คะแนนยังเท่ากับตอนที่รีวิวครั้งแรกค่ะ




View all my reviews

No comments: