เมื่อช่วงสัปดาห์ก่อนแม็กซ์บังเอิญเข้าไปในเว็บไซด์ที่เป็นคอมมูนิตี้ดัง แห่งหนึ่งของเมืองไทย และได้อ่านเจอประเด็นการทะเลากันระหว่างสำนักพิมพ์และนักแปล ซึ่งประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องที่เราจะพูดถึงหรอกนะคะ แต่ดันมีอีกประเด็นที่หลุดออกมาจากการแฉกันเองระหว่างสนพ.และนักแปล และถูกหยิบยกขึ้นไปพูดต่อกันพอสมควรในกระทู้ที่เว็บบอร์ดแห่งนั้น นั่นก็คือ หนังสือที่สนพ.ส่งให้นักแปลดำเนินการแปล ไม่ได้ซื้อลิขสิทธิ์อย่างถูกต้อง
แต่เมื่อประเด็นถูกนำมาพูดถึงก็มีการตอบกลับจากคนที่ให้การสนับสนุนการทำงาน ของสนพ. โดยใช้คำพูดที่ดูเหมือนจะเป็นสากลในวงการนิยายแปลโรแมนซ์ไปแล้ว แม็กซ์จำประโยคที่เขียนชัดเจนไม่ได้หรอกนะคะ แต่มันเป็นคำพูดทำนองที่ว่า "ประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์เป็นประเด็นสีเทา ซึ่งไม่อยากให้พูดกันในที่นี้ เพราะจะทำให้นักอ่านเดือดร้อนกันไปหมด"
คำพูดทำนองนี้ แม็กซ์ได้ยินอย่างชาชินหู ตั้งแต่เราเริ่มเข้าวงการนิยายแปลโรแมนซ์ในเมืองไทยสักเมื่อห้าหกปีก่อน (ก่อนหน้านั้นแม็กซ์รู้เรื่องแต่ต้นฉบับนิยายภาษาอังกฤษ และไม่สนใจนิยายแปลที่เมืองไทยทำขายเลย) คำพูดที่ว่า "ถ้าหากมีการซื้อลิขสิทธิ์ ก็จะทำให้ราคาหนังสือแพงมาก ๆ และทางสนพ.ก็จะไม่สามารถผลิตงานมาให้นักอ่านอ่านกันได้อีก ดังนั้นถ้าใครจะเป็นแฟนหนังสือโรแมนซ์ ก็ต้องปิดปาก/หุบปากเกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์ ต้องปกป้องสำนักพิมพ์ยิ่งกว่าชีวิต ใครก็ตามที่เอาเรื่องสนพ.ไม่ได้ซื้อลิขสิทธิ์ไปพูด จะต้องตามทำลายล้างให้หมดไปจากโลกนี้ให้ได้"
และสำหรับคนที่ใหม่มากในวงการนิยายแปล แม็กซ์ก็เชื่อนะคะ แม้ว่าใจจริงเราจะรู้สึกพอสมควรกับการที่สนพ.ในเมืองไทยเอางานที่มี ลิขสิทธิ์ของต่างชาติมาแปลขายหากินกัน แต่ไม่จ่ายผลตอบแทนให้กับเจ้าของผลงานเลยแม้แต่นิดเดียว แต่เราก็เชื่อว่า ถ้าซื้อลิขสิทธิ์ วงการโรแมนซ์ในเมืองไทยคงจะถึงกาลวินาศเป็นแน่
แม็กซ์เชื่อมาตลอด
จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ เราเริ่มตื่นจากความฝัน (หรือจะพูดว่าความกลัวดีคะ) เราเริ่มตั้งข้อสงสัยคำพูดอันนี้ว่ามันจริงแท้แค่ไหน หรือเป็นแค่เรื่องเล่าหลอกเด็ก เป็นเพียงตำนานเรื่องสยองขวัญที่หามูลความจริงไม่ได้
ดังนั้นเราจึงเริ่มต้นค้นหาข้อมูล ในทางนึงแม็กซ์พูดคุยกับนักเขียนต้นฉบับจากต่างประเทศ อีกด้านแม็กซ์พูดคุยกับตัวแทนผู้ทำหน้าที่ดูแลเรื่องลิขสิทธิ์ในประเทศไทย (บทสนทนาระหว่างแม็กซ์กับทางตัวแทนผู้ดูแลลิขสิทธิ์ในเมืองไทยจะตามมานะคะ แต่ตอนนี้ยังตีพิมพ์ไม่ได้ เพราะแม็กซ์กำลังรอคำอนุญาตจากคนที่ให้สัมภาษณ์อยู่ค่ะ) แม็กซ์เก็บข้อมูลในเชิงสถิติเกี่ยวกับเรื่องราคาขายของหนังสือที่ซื้อ ลิขสิทธิ์ และไม่ซื้อลิขสิทธิ์
และแม็กซ์ก็เชื่อว่า ตนเองได้พบกับความจริง ที่ไม่ใช่ภาพลวงตาที่หลอกนักอ่านมาตลอด
แม็กซ์ไม่ได้เขียนบลอกนี้เพื่อให้คนเชื่อว่า สิ่งที่แม็กซ์คิดคือสิ่งที่ถูก แต่แม็กซ์อยากให้คุณถามตัวเองนิดนึงก่อนที่จะพูดอะไรออกไป ในการสนับสนุนการกระทำของคนที่ไม่ซื้อลิขสิทธิ์
ก่อนอื่นขอแม็กซ์พูดถึงความเห็นของตัวเองต่อเรื่องสิทธิทางปัญญาก่อนนะคะ
แม็กซ์ไม่ใช่คนที่เถรตรง หรือจะบอกว่า ซื่อสัตย์กับเรื่องสิทธิทางปัญญาเต็มร้อยหรอกนะคะ เราสนันสนุนในเรื่อง Compulsory license โดยเฉพาะในเรื่องยา เพราะนี่คือความเป็นความตายของมนุษย์ เราไม่เชื่อว่า การที่เราต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้อง (นั่นคือจัดการเรื่องสิทธิบัตรยาอย่างถูกต้องจนเป็นที่พอใจของประเทศตะวันตก ) จะคุ้มค่ากับชีวิตมนุษย์ ดังนั้นเราเชื่อในการซื้อยา (ที่ผลิตอย่างถูกต้องตามสิทธิบัตรยา) ของประเทศที่สาม เพื่อมาใช้ในประเทศไทย โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของประเทศที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตรที่แท้จริง ด้วยเหตุผลง่าย ๆ สองข้อ
1. มันเป็นเรื่องของชีวิตมนุษย์ และ
2. บริษัทยารวยมากอยู่แล้ว (มันเป็นเหตุผลที่ห่วย เรารู้ค่ะ แต่นี่คือสิ่งที่เราคิด)
แต่เมื่อย้อนกลับมาเรื่องลิขสิทธิ์ในนิยาย แม็กซ์คิดแตกต่างออกไป โดยเฉพาะเมื่อเรารู้แล้วว่า ค่าลิขสิทธิ์ไม่ได้แพงอย่างที่สนพ.ทำให้คนอ่านเข้าใจกันเลย
เท่าที่รู้ราคาค่าลิขสิทธิ์ส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 500 - 1,000 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 18,000 - 36,000 บาทเท่านั้น เมื่อคิดเฉลี่ยต่อเล่ม (กรณีพิมพ์ขายสามพันเล่ม) ก็ตกเล่มละ 6 - 12 บาทเท่านั้นเอง
คำถามคือ คุณคิดว่า เงินจำนวนหกบาท หรือสิบสองบาทนี่มันมากเกินไปที่จะจ่ายให้กับนักเขียนที่คุณชอบงานของเขานั้นเหรอ
ในเมื่อปากคุณก็พูดว่า นักเขียนคนนั้นคนนี้คือคนโปรดในใจ คุณชอบงานของเขา คุณอยากอ่านงานของเขานักหนา เงินแค่หกบาท (หรือสิบสองบาท) คุณจ่ายเพิ่มเพื่อพวกเขาไม่ได้เหรอ
หรือคุณกำลังจะใช้เหตุผลเดียวกับแม็กซ์ที่ว่า นักเขียนรวยอยู่แล้ว ไม่ต้องการเงินของพวกคุณหรอก
ถ้าคิดอย่างนั้น ก็ขอแม็กซ์ให้ข้อมูลพวกคุณเพิ่มเติมหน่อยแล้วกันค่ะ
นักเขียนไม่ว่าในสังคมไหน ก็ยังเป็นอาชีพที่ไม่ได้ทำรายได้มากมายอะไรหรอกนะคะ แน่นอนว่านักเขียนอเมริกันย่อมทำเงินมากกว่านักเขียนไทย แต่ค่าครองชีพในอเมริกาและเมืองไทยก็ต่างกัน และจริงค่ะว่ามีนักเขียนบางคนที่ทำงานสูงมาก มีฐานะเป็นมหาเศรษฐี แต่ไม่ใช่นักเขียนทุกคนเป็นเช่นนั้น ความจริงก็คือ นักเขียนส่วนใหญ่ก็คือ คนอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ นี่แหละ เป็นคนที่ต้องทำมาหากิน บางคนเขียนหนังสือเป็นอาชีพเสริม หารายได้พิเศษเพื่อเลี้ยงปากท้อง
แล้วรู้อะไรไหมคะ สำนักพิมพ์ในเมืองไทยไม่ค่อยกล้าละเมิดลิขสิทธิ์นักเีขียนดัง ๆ หรอกนะคะ เพราะนักเขียนพวกนี้มีทีมกฎหมายค่อยดูแลผลประโยชน์ของพวกเขา ดังนั้นจึงน่าจะสังเกตว่า นักเขียนระดับที่ดังมาก ๆ มักจะถูกซื้อลิขสิทธิ์อย่างถูกต้อง เพราะสำนักพิมพ์ไม่กล้าเสี่ยง
แต่พวกเขากล้าเสี่ยงกับนักเขียนใหม่ หรือนักเขียนระดับกลางที่พวกเขารู้ว่า ไม่มีวันเอาผิดการกระทำของพวกเขาได้ เพราะนักเขียนพวกนี้ก็เหมือนแม็กซ์ เหมือนคุณคนอื่น ที่เป็นเพียงตัวเล็ก ๆ และก็อยู่ไกลถึงต่างประเทศ การละเมิดสิทธิของพวกเขาจึงทำได้ง่าย และไม่ต้องคิดมาก รวมทั้งโอกาสจะถูกจับก็น้อยลงไปกันใหญ่
นักเขียนเหล่านี้มีภาระทางครอบครัว บางคนต้องหาเงินมาผ่อนบ้าน จ่ายค่าเทอมลูก เงินเพียงแค่ห้าร้อยหรือพันเหรียญอาจจะช่วยให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้นอีกนิด นึง มันเป็นเงินที่ไม่เยอะเลย เมื่อหาต่อเล่ม แต่มันก็เป็นเงินที่มีความหมายต่อพวกเขา เงินที่สนพ.ในเมืองไทย และนักอ่านในเมืองไทยโกงไปจากพวกเขา ในขณะที่พวกคุณกำลังมีความสุขจากการอ่านหนังสือของพวกเขา
สำหรับนักอ่าน แม็กซ์อยากให้ข้อมูล เพื่อกลับไปคิดในถ่องแท้ว่า เจ้าความกลัวที่สำนักพิมพ์ฝังเข้าไปในความคิดของพวกเขาเป็นเพียงภาพหลอน เป็นเพียงตำนานหลอกเด็ก ค่าลิขสิทธิ์ไม่ได้มีมูลค่าเป็นแสน (ยกเว้นหนังสือบางเรื่องซึ่งถ้าเอ่ยชื่อก็น่าจะรู้จักกันนะคะ แต่กระนั้นถึงซื้อเป็นแสน สนพ.นั้นก็ได้รายได้กลับมาเกินคุ้มค่ะ) แต่ค่าไม่กี่หมื่น แม็กซ์อยากรู้ว่า มันแพงตรงไหน โดยเฉพาะแม็กซ์ก็คิดให้แล้วว่า มันสามารถผลักลงมาหาคนอ่านได้เลย
มีคนพูดให้แม็กซ์ถึงระบบจัดจำหน่ายในเมืองไทย ที่พูดว่า บริษัทจัดจำหน่ายกินหัวคิวไปมากกว่า 40% แม็กซ์คิดเลขเป็นนะคะ เอาเป็นว่า ทางสนพ.ต้องตั้งราคาเวอร์เกินเพื่อหักเงินให้บริษัทจัดจำหน่าย เอาเป็นว่า แม็กซ์คิดให้เลยนะคะว่า ซื้อลิขสิทธิ์มาเป็นเงิน 1,000 เหรียญสหรัฐ หรือ 36,000 บาท ทางสนพ.ไม่ต้องการรับภาระค่าลิขสิทธิ์ไว้กับตัวเองเลย ซึ่งนั่นหมายความว่า สนพ.ต้องตั้งราคาหนังสือเพิ่มขึ้นอีก 60,000 บาท เพื่อที่จะหลังหักค่าจัดจำหน่าย 40% สนพ.จะได้เงินคืนมาเบ็ดเสร็จ 36,000 บาทเป็นค่าลิขสิทธิ์
เงินจำนวนหกหมื่นบาทเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการพิมพ์หนังสือ 3,000 เล่ม ทำให้ราคาขายเพิ่มขึ้นจากเล่มที่ไม่ได้ซื้อลิขสิทธิ์เป็นเงินแค่เล่มละ 20 บาท
เงินยี่สิบบาทนี่ คุณว่ามันแพงไปไหมที่จะจ่ายให้กับนักเขียนที่คุณรักได้ (และถ้าค่าลิขสิทธิ์แค่ 500 เหรียญสหรัฐ ราคาส่วนเพิ่มก็แค่ 10 บาทเท่านั้นเอง)
เหตุผลทุกอย่างที่ถูกยกและอ้างมา ล้วนเป็นข้อแก้ตัวของความโลภ เพราะอะไรเหรอคะ การที่ไม่จ่ายค่าลิขสิทธิ์ สำนักพิมพ์ก็จะอุบกำไรในส่วนนี้มาเป็นของตัวเองทั้งหมด คำถามก็คือ นักอ่านควรจะสนับสนุนใครมากกว่ากัน
สำนักพิมพ์ หรือนักเขียน
แม็กซ์เข้าใจนะคะว่า ความสัมพันธ์ระหว่างนักอ่านกับสนพ.ในเมืองไทย อาจจะแน่นแฟ้นมากกว่านักเขียนที่อยู่ไกลโพ้น คุณไม่รู้จักนักเขียน แต่คุณรู้จักสนพ. มันย่อมจะง่ายที่จะ "ช่วย" สำนักพิมพ์ แม็กซ์ก็รู้สึกอย่างนั้น โดยเฉพาะเมื่อตัวแม็กซ์เองก็รู้จักกับหลายสนพ.ที่ผลิตงานโดยไม่ซื้อ ลิขสิทธิ์
บทความนี้มันจึงยากที่จะเขียน แต่ข้อเท็จจริงที่แม็กซ์หาได้ มันก็ยากเช่นกันที่จะเมินเฉย แม็กซ์ไม่ได้ตั้งตัวเป็นผู้พิทักษ์ความถูกต้อง แม็กซ์ไม่ได้เป็นตัวแทนของนักเขียน หรือมีผลประโยชน์ แต่แม็กซ์คิดว่า มันไม่ใช่เรื่องยาก หรือลำบากเลยในการทำให้ถูกต้อง
แม็กซ์คิดว่า เราทุกคนก็อยากจะทำให้ถูกต้อง โดยเฉพาะเมื่อมันไม่ได้ยากเย็น หรือเสียเงินเยอะแยะอะไรเลย
อย่างที่บอกนะคะ แม็กซ์ก็แ่ค่คนคนเดียว ทั้งหมดก็เป็นข้อมูลที่แม็กซ์หามา เป็นความคิดของแม็กซ์ซึ่งไม่สำคัญเลยว่า คุณจะยอมรับหรือไม่ แต่แม็กซ์อยากรู้ค่ะว่า ถ้าไม่เห็นด้วย และคิดว่า ไม่ซื้อลิขสิทธิ์เป็นเรื่องดีกว่า แม็กซ์อยากได้เหตุผลค่ะ เพราะเราอยากรู้ว่า มันเป็นเหตุผลที่แท้จริง หรือเป็นเพียงความกลัวที่บังความถูกต้อง
Edited to Add: แม็กซ์นึกประเด็นเพิ่มขึ้นมาได้อีกเรื่องนึงค่ะ มีคนพูดว่า ถ้าสนพ.ต้องซื้อลิขสิทธิ์ อีกหน่อยก็จะผลิตงานออกมาน้อยลงเพราะต้องคิดอย่างถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจซื้อ ลิขสิทธิ์เรื่องไหน ทำให้นักอ่านไม่มีหนังสืออ่าน
แม็กซ์คิดอย่างนี้นะคะ ตราบใดที่เขาผลิตหนังสือออกมา แล้วมีนักอ่านตามอ่านอยู่ ประเด็นก็มีเพียงเรื่องเดียวคือ ราคา ถ้าราคาหนังสือแพงขึ้นมาอีกยี่สิบบาท ถ้านักอ่านยอมรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในส่วนนี้ได้ (หรือสนพ.หั่นกำไรของตัวเองลงสักหน่อยรับภาระกันคนละครึ่งกับคนอ่าน) นักอ่านก็ยังซื้อหนังสือเหมือนเดิม แล้วมีเหตุผลอะไรที่สนพ.จะไม่ผลิตของมาขายล่ะ
นี่มันธุรกิจนะคะ ถ้าของเขายังขายได้ ทำไมเขาจะไม่ขาย
ส่วนข้อโต้แย้งที่ว่า เขาสังเกตจากในตลาดหนังสือ พบว่า สนพ.ที่ซื้อลิขสิทธิ์ผลิตหนังสือออกมาขายน้อยมาก บางแห่งออกปีละแค่ห้าถึงหกเล่มเท่านั้นเอง แม็กซ์คงตอบว่า เขาจะผลิตออกมาเยอะได้ยังไง ในเมือตลาดส่วนใหญ่ถูกครอบครองโดยงานที่ไม่มีลิขสิทธิ์ เขาไม่อาจสู้การแข่งขันที่ไม่ยุติธรรมเหล่านี้ได้หรอกค่ะ เพราะสนพ.ที่ซื้อลิขสิทธิ์เขามีต้นทุนส่วนเพิ่ม ในขณะที่พวกไม่ได้ซื้อเอาเปรียบเขา
ซึ่งถ้าทั้งตลาดกลายเป็นตลาดที่ซื้อลิขสิทธิ์อย่างถูกต้อง แม็กซ์เชื่อว่า ปริมาณหนังสือโรแมนซ์ในตลาดจะไม่ลดน้อยลงไปหรอกค่ะ เพราะสนพ.ที่ซื้อลิขสิทธิ์เขาก็จะกล้าลงทุนมากขึ้น เพราะเขาแน่ใจแล้วว่า มันเป็นการแข่งขันอย่างยุติธรรม
No comments:
Post a Comment