The Queen of Attolia by
Megan Whalen Turner My rating:
5 of 5 stars รีวิวที่เขียนอีกครั้งหลังจากอ่านใหม่อีกรอบ (วันที่ 9/9/13)
ไม่ได้ตั้งใจจริง ๆ เลยนะคะที่จะหยิบเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน แต่เพราะเอาคินเดลมาชาร์ตไฟ แล้วเปิดไวไฟเช็คหนังสือใหม่ ก็เจอว่า เพื่อนซื้อหนังสือเล่มนี้ในฉบับอีบุ๊คมา (เพื่อนซื้อแต่มาปรากฎที่เครื่องของเราด้วย เพราะเราใช้บัญชีอเมซอนร่วมกันน่ะค่ะ) ก็เลยอดไม่ได้เปิดมาดูหน้าตาฉบับอีบุ๊คว่าเป็นยังไง ซึ่งมันจะเป็นอะไรไปได้ล่ะค่ะ มันก็เหมือนพรินต์บุ๊คนั่นแหละ ทั้งหน้าปก แล้วก็เนื้อหา
ซึ่งนั่นเป็นเรื่องเลย เพราะพอหลงอ่านไปนิดเดียว ทั้งที่เคยอ่านแล้วหลายรอบ ก็ถอนตัวไม่ขึ้น สุดท้ายก็เลยอ่านต่อเนื่องไปเลย
และแม้จะบอกว่า เคยอ่านเรื่องนี้หลายรอบแล้ว เราก็ยังรู้สึกตื่นเต้น และมีความสุขเหมือนกับตอนที่ได้อ่านครั้งแรก ๆ ที่สำคัญ เรารู้สึกว่า มีรายละเอียดหลายอย่างมากที่เรารู้สึกว่าอ่านตกไปตอนอ่านครั้งก่อนหน้า ดังนั้นรีวิวนี้จึงเป็นการทดสอบตัวเองค่ะ เราเขียนโดยไม่ได้ดูรีวิวอันเก่าที่เราเคยเขียนเอาไว้ อยากรู้น่ะค่ะว่า ประเด็นที่เราชอบมาก ๆ จากการอ่านครั้งนี้ยังเป็นเหมือนเดิมไหม (หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ตัวเราเองเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน)
เรามองเล่มนี้เหมือนเรื่องราวของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ของเจ็น คนอ่านได้มองเห็นความเปลี่ยนแปลงของเขา เดินทางร่วมกับเขาจากจุดที่ต่ำสุด ไปจนถึงการที่เขากลายเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องตัดสินใจ และกระทำในเรื่องที่ยากลำบาก (การเติบโตที่ยังคงเป็นธีมของเรื่องต่อเนื่องไปจนถึงเรื่อง The King of Attolia)
สิ่งแรกที่เราคิดก็คือ คนที่อ่านเรื่อง The Thief คงไม่คิดว่า เส้นทางชีวิตของเจ็นจะจบลงที่แอตโตเลีย เราเอง (ซึ่งรู้อยู่แล้ว เพราะอ่านมาแล้ว) ตอนอ่านเล่มนี้ก็ยังตั้งข้อสงสัย เพราะดูห่างไกลจากความเป็นไปได้มาก ๆ แต่ถ้ามองให้ดี นี่คือบทสรุปเดียวที่จะเป็นไปได้
เหตุการณ์ในเรื่อง สงครามระหว่างสามประเทศบนคาบสมุทรได้เกิดขึ้น ความระส่ำระสายทำให้ทั้งสามประเทศกำลังอยู่ในความเสี่ยงของการถูกเข้าครอบครองโดยอาณาจักรที่ใหญ่กว่า และเสถียรภาพของแอตโตเลียเป็นสิ่งสำคัญต่อทุกประเทศบนคาบสมุทรแห่งนี้ โดยเฉพาะเมื่อตอนนี้แอตโตเลียมีความใกล้ชิดกับอาณาจักรมีดส์ ซึ่งกำลังหาช่องทางเข้ามาแผ่ขยายอำนาจที่นี่ ข้อเสนอของเจ็นต่อเอ็ดดิสไม่ใช่การที่เอ็ดดิสจะเข้าครอบครองแอตโตเลีย หากแต่เป็นการที่เขาจะกำจัดความไม่มั่นคงของราชินีแห่งแอตโตเลียให้หมดสิ้น ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้เป็นเรื่องที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
ตลอดทั้งเล่มการใช้ภาษาที่นุ่มลึก (เราไม่แน่ใจว่า ใช้คำถูกไหม มันคือ subtle) ที่ทำให้เราต้องใช้ความคิดอยู่ตลอดเวลาที่อ่าน นี่คือมนต์เสน่ห์ของเล่มนี้ (หรือบอกให้ถูกทั้งชุดนี้) คือความงดงามของเรื่อง ไม่มีอะไรที่เราอ่านแล้วตีความเพียงแค่ตัวอักษรที่ปรากฎได้เลย
เล่มนี้เหมือนกลยุทธ์ในการรบ แผนการต่าง ๆ ที่เจ็นนำมาใช้ เพื่อช่วยประเทศของเขาซึ่งอยู่ในชัยภูมิที่ดี แต่ไม่มีกำลังทางทหารถือว่ายอดเยี่ยม และสมจริง (อาจจะยังไม่ถึงในระดับของเรื่อง The Vor Game แต่ก็ซับซ้อนถี่ถ้วน)
และอาจเพราะเรื่องนี้เป็นเล่มที่แสดงถึงการเติบโตอย่างมากที่สุดของเจ็น เล่มนี้แม้จะชื่อเรื่องว่า The Queen of Attolia แต่เราคิดว่า เป็นเล่มที่โฟกัสของเรื่องอยู่ตัวเขามากที่สุด ทุกอย่างมีจุดเริ่มต้นมาจากตัวเขา และคนอ่านได้มองเข้าเห็นในสิ่งที่เขาคิด (และรู้จักตัวตนของเขา) มากกว่าเล่มไหน ๆ ในชุด เราอยู่ร่วมกับเขาในเวลาที่เขาอยู่ในจุดที่ตกต่ำที่สุด ยามที่เขาคิดว่า จะยอมแพ้ และกลับไปเรียนหนังสือ เห็นเขาค่อย ๆ ลุกขึ้น และกลายมาเป็นคนที่เขาเป็น ไม่ใช่คนเดิม เพราะไม่มีใครสามารถกลับไปเป็นคนเดิมหลังจากประสบการณ์ที่เขาผ่านมาได้ แต่เป็นคนที่เขาจำเป็นต้องเป็น
เราพยายามคิดว่า อะไรคือสิ่งที่เจ็นมองเห็นในตัวของแอตโตเลีย เขามีโอกาสได้เจอเธอในขณะที่เธอยังคงเป็นเพียงเจ้าหญิงธรรมดา คนที่ไม่ได้มีความสำคัญอะไรมากมาย ก่อนที่ชีวิตของเธอจะเปลี่ยนแปลง และเธอต้องทำอะไรหลายอย่างเพื่อที่จะเป็นราชินี และมีชื่อเสียงอย่างที่เป็นในปัจจุบัน ดังนั้นอาจจะมีเจ็นเพียงคนเดียวที่ยังจดจำแอตโตเลียในขณะที่เธอเป็นเพียงแค่ไอรีนได้ กระนั้นเราก็ยอมรับไม่ได้เข้าใจความรู้สึกของเขาชัดเจนนัก แต่เมื่อเขาสามารถทำให้เป้าหมายที่เขาต้องการสองอย่างมาเป็นสิ่งเดียวกันได้ (การที่เขาต้องรับใช้ประเทศ และความรักที่เขามีให้กับราชินีแอตโตเลีย) เจ็นก็มุ่งมุ่นเพื่อสิ่งนั้น (จนลืมไปว่า การที่ได้แต่งงานกับราชินีแห่งแอตโตเลีย เขาจะต้องเป็นกษัตริย์แห่งแอตโตเลียไปด้วย แต่นั่นเป็นอีกประเด็นนึง และจะถูกพูดต่อในเล่มสามของชุด)
ส่วนเดียวจริง ๆ ที่เราไม่ชอบในเล่มนี้ (หรือบอกให้ถูกก็คือในชุดนี้) ก็คือส่วนที่เทพเจ้าเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเล่มนี้ บทบาทของเทพเจ้ามาเยอะมาก จนเรารู้สึกว่า มนุษย์ช่างไร้อำนาจในการกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองเหลือเกิน และมันเป็นการดูถูกสติปัญญาของเจ็นอย่างยิ่ง เราเข้าใจข้อสรุปของเรื่องนะคะ ทุกอย่างที่เทพเจ้าทำ ก็เพื่อนำมาที่จุดจบของเรื่องอย่างที่เป็น แต่ก็นะ...
อย่างไรก็ตามถ้ามองอีกด้าน ก็มีแต่เทพเจ้าเท่านั้นที่เอาชนะสติปัญญาของเจ็นได้
พูดถึงเจ็นเยอะมาก ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะเขาคือโฟกัสของเรื่อง แต่คาแร็คเตอร์ของราชินีแห่งแอตโตเลียก็น่าค้นหาไม่แพ้กัน แม้เรื่องจะไม่ได้ให้เวลากับเธอมากนัก แต่สิ่งที่พูดถึงก็มากพอที่จะทำให้เราเข้าใจตัวตนของเธอ หญิงสาวธรรมดากับภาระอันใหญ่หลวง เธอไม่มีทางเลือก ในสถานการณที่เผชิญ จากเจ้าหญิงไอรีน ลูกสาวของภรรยาคนที่สองของกษัตริย์ เธอกลายเป็นรัชทายาท เป็นเบี้ยในเกมการเมืองที่บิดานำมาใช้อย่างไม่แยแส เธอสามารถรักษาความไร้เดียงสาของตัวเองไว้ได้ ถ้าเธอเลือกเป็นเหยื่อ แล้วปล่อยให้ประเทศไปตามยถากรรม แต่เธอเลือกที่จะเป็นผู้ปกครอง เป็นราชินี และนั่นทำให้เธอเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล
เรานึกไม่ออกค่ะว่า จะมีใครในเรื่องที่เหมาะสมกับเจ็นมากไปกว่าแอตโตเลียอีกแล้ว
ฉากที่เธอคุยกับเอ็ดดิสแล้วค้นพบว่า เจ็นก็โกหกกับเอ็ดดิสเช่นกัน ทำให้เรายิ้มออกมาเลย นั่นเป็นการแสดงความรู้สึกที่มากโขแล้วของเธอ (ถ้าไม่นับฉากในเรื่อง The King of Attolia)
เราสามารถพูดถึงวิธีการเล่าเรื่องของคนแต่งได้อีกหลายหน้าเลยค่ะ ทุกอย่างในเรื่องมีความหมาย ต่างหูทับทิมที่เจ็มมอบให้กับเธอ กลายเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ในตอนท้ายเรื่อง เมื่อไม่มีใครสามารถสือสารด้วยคำพูดออกมาได้ รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ ทให้หนังสือเล่มนี้ทรงคุณค่ามากขึ้น
สรุปว่า อ่านจบแล้วเราก็อดไม่ได้ที่ต้องหยิบเรื่อง The King of Attolia มาอ่านอีกรอบค่ะ
คะแนนที่ 90
และนี่เป็นรีวิวที่เราเคยเขียนไว้ที่บลอกตัวเองเมื่อ 2/7/09
คนที่อ่านรีวิวเรื่อง The King of Attloia ก็คงจะโดนสปอยล์เหตุการณ์ในเล่มนี้ไปหลายฉากแล้วล่ะค่ะ แต่รู้อะไรไหมคะ แม็กซ์กลับรู้สึกว่า การเริ่มต้นอ่านที่เล่มสามก่อน แล้วย้อนมาเล่มนี้กลับทำให้เรามองเห็นเสน่ห์ และเกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในเล่มนี้ได้ดีมาก ๆ
หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มที่สองในชุด และบอกเล่าเรื่องราวที่มาที่ไปของการที่ ยูเจนิดิส ผู้ที่เป็นจอมโจรแห่งเมืองเอ็ดดิสกลายมาเป็นราชาแห่งแอตโตเลียได้อย่างไร ในเล่มสามเราได้รู้แล้วว่า ยูเจนิดิสเป็นกษัตริย์ที่ชาญฉลาดแค่ไหน แต่ในเล่มนี้เราได้มองเห็นอีกด้านนึงของเขาที่เติบโตจากเด็กชายมาเป็นผู้ใหญ่ และต้องทำทุกอย่างเพื่อทำให้เกิดสันติภาพในดินแดนที่เขาอาศัยอยู่
ในตอนเปิดเรื่องยูเจนิดิสซึ่งถูกราชินีแห่งเอ็ดดิสส่งตัวไปแอตโตเลียเพื่อลอบสืบความลับ แต่เหตุการณ์ที่ไม่น่าเกิดขึ้นก็ได้เกิดขึ้น เขาถูกจับตัวได้ และโทษที่เขาได้รับกลับไม่ใช่ความตาย
มันโหดร้ายกว่านั้น สำหรับคนที่เติบโตมาโดยใช้ความสามารถในการขโมย ยูเจนิดิสสูญเสียมือข้างขวาของเขาไป คำสั่งนั้นมาจากราชินีแห่งแอตโทเลีย ทางออกที่โหดร้าย มันดูเหมือนว่า จอมโจรแห่งเอ็ดดิสได้จบสิ้นไปแล้ว
ยูเจนิดิสถูกส่งกลับเอ็ดดิสอย่างพ่ายแพ้ เขาหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่เขาสูญเสีย ถึงขนาดคิดจะละทิ้งทุกอย่าง กลับไปเรียนหนังสือ และมีชีวิตที่น่านับถือ แต่แล้วสงครามที่เกิดขึ้นระหว่างเอ็ดดิส และแอตโตเลีย รวมทั้งดินแดนใกล้เคียงกันอย่างซูนิสก็ทำให้จอมโจรแห่งเอ็ดดิสต้องกลับมามีบทบาทอีกครั้ง และคราวนี้เขาต้องทำมันให้สำเร็จด้วยมือที่เหลือเพียงข้างเดียว
หากจะมองว่าเล่มสามในชุดเป็นเรื่องราวการชิงอำนาจกันทางการเมือง ในเล่มนี้ก็คือเอาชนะกันในการทำสงคราม ศึกระหว่างสามดินแดนซับซ้อน และเต็มไปด้วยการซ้อนแผนกันไปมา ที่เลวร้ายไปกว่านั้น ผู้เล่นใหม่ก็กำลังจะเข้ามายึดครองทั้งสามประเทศ นั่นก็เมเด ประเทศที่อยู่นอกคาบสมุทรออกไป แต่หวังจะยึดดินแดนใดดินแดนนึงเพื่อเริ่มต้นการรุกรานเข้ามา อัครราชทูตแห่งเมเดเริ่มต้นด้วยการผูกสัมพันธ์กับราชินีแห่งแอตโทเลีย ผู้ที่ครอบครองแผ่นดินท่ามกลางความไม่สงบของข้าราชบริพานภายในประเทศของเธอเอง แอตโทเลียเป็นราชินีตั้งแต่เยาว์วัย เธอเรียนรู้กลยุทธ์การครอบครองอำนาจในบ้านของคู่หมั้นของเธอ เมื่อเขาและพ่อของเขาวางแผนที่จะยึดครองอาณาจักรของเธอ ภายหลังจากทั้งคู่ได้แต่งงานกัน
พวกเขาแต่งงานกัน และแอตโทเลียวางยาพิษฆ่าเขาในคืนวันแต่งงาน เธอประกาศความเป็นราชินีผู้อำมหิตในวันนั้น ยึดครองอำนาจในประเทศที่แทบจะตกอยู่ท่ามกลางสงครามกลางเมือง การเดินเกมส์การเมืองอันชาญฉลาดของเธอ ทำให้สามารถยึดหน่วยเหล่าบารอนที่ล้วนแต่เตรียมตัวจะก่อกบฎไว้ได้ แต่แอตโทเลียกำลังจะเดินมาสุดทางของเธอแล้ว ความขัดแย้งที่เกิดกับเอ็ดดิส สงครามที่ต้องทำกับซูนิส กำลังผลักแอตโทเลียให้เข้าใกล้กับการเป็นพันธมิตรของเมเดเข้าทุกที
และนั่นเป็นสิ่งที่เอ็ดดิสไม่ต้องการให้เกิดขึ้น
ดังนั้นภารกิจครั้งนี้สำหรับยูเจนิดิสจึงใหญ่หลวง รางวัลคือสันติภาพ ความล้มเหลวไม่อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่นอกเหนือจากหน้าที่ที่เขาทำให้ราชินีของเขา ส่วนแบ่งของตัวยูเจนิดิสเองก็สูงค่าไม่แพ้กัน เพราะมันคือสิ่งที่เขาใฝ่ฝันมาตลอดชีวิต
หนังสือชุดนี้อย่างที่บอกไม่ใช่โรแมนซ์ แต่แม็กซ์ซึ่งเป็นแฟนโรแมนซ์อ่านเล่มนี้ด้วยสายตาของคนที่มองหาโรแมนซ์ (หวังว่าจะเข้าใจที่เขียนนะคะ) ดังนั้นแน่นอนว่า การชิงไหวชิงพริบกันของตัวละครในเรื่องจะสนุกมาก แต่สิ่งที่ดึงแม็กซ์ไว้ตลอดเรื่องก็คือยูเจนิดิสและแอตโทเลีย
การอ่านเล่มนี้ทำให้เราเข้าใจความสัมพันธ์ของทั้งคู่ที่เกิดใน The King of Attolia ได้ดีขึ้น ในขณะเดียวกันก็ได้มองเห็นเข้าไปในความคิดของแอตโทเลียเป็นครั้งแรก (ซึ่งคุณจะไม่ได้เห็นหรอกถ้าอ่าน TKOA) และพบว่าแม็กซ์ชอบเธอไม่น้อยกว่ายูเจนิดิสเลย เธอเหี้ยมโหด เย็นชา และเลือดเย็น แต่ในขณะเดียวกันเมื่อเธอรัก แอตโทเลียก็ทำได้ทุกอย่าง (สปอยล์) เห็นได้จากการที่เธอไม่ยอมให้ตั้งแท่นบูชาเทพเจ้าของชาวเอ็ดดิสในเมืองของเธอ เพราะเธอคิดว่าพวกเขาทรยศเจ็น ก่อนที่จะสาบานต่อเหล่าเทพเจ้าว่า เธอจะสร้างแท่นบูชาให้พวกเขาไว้ยังที่สูงสุดของเมือง ถ้าเพียงแต่พวกเขาจะคืนยูเจนิดิสกลับมาให้เธออีกครั้ง ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ของแอตโืทเลียได้ถูกย้ำให้เห็นอย่างชัดเจนใน TKOA
ดังนั้นแม็กซ์จึงบอกไม่ถูกนะคะว่า ลำดับการอ่านควรจะเป็นยังไง แต่สำหรับเรา การที่ได้อ่านเล่มสามก่อนไม่ใช่เรื่องเสียหาย และไม่ได้บั่นทอนความสนุกของเล่มสองลงเลย (เพียงแต่เมื่ออ่านจบ แม็กซ์ก็กำลังจะย้อนกลับไปอ่านเล่มสามอีกรอบ)
ชอบชุดนี้มาก และบ้ามาก ๆ ไปแล้วล่ะ คะแนนที่ 83
View all my reviews