Sunday, September 8, 2013

Review: A Conspiracy of Kings


A Conspiracy of Kings
A Conspiracy of Kings by Megan Whalen Turner

My rating: 4 of 5 stars



หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มที่สี่ในชุดที่แม็กซ์เคยเรียกว่า ยูเจนิดิส แต่เล่มนี้มีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญก็คือ จากเดิมเรื่องราวในสามเล่มจะโฟกัสไปที่ตัวเอกคือ ยูเจนิดิส (แม้จะไม่ได้เล่าเรื่องผ่านสายตาของเขาทุกเล่ม) แต่เล่มนี้โฟกัสของเรื่องเปลี่ยนไปที่ตัวละครที่อาจจะดูด้อยกว่า แต่เรื่องราวของเขาก็ทรงพลังไม่แพ้กัน

คำเตือนก็คือ ถ้าคุณยังไม่ได้อ่านสามเล่มแรกในชุด แม็กซ์ไม่แนะนำให้อ่านรีวิวหนังสือเล่มนี้นะคะ เพราะจะเป็นการสปอยล์อย่างแหลกลาน และแม็กซ์อยากให้คุณได้อ่านหนังสือชุดนี้ทั้งชุดก่อนค่ะ

จากความในเล่มสาม คนอ่านทราบถึงการหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยของโซฟอส ผู้เป็นรัชทายาทแห่งบัลลังค์เมืองซูนิส และสำหรับคนที่อ่านหนังสือชุดนี้มาแล้ว ก็จะรู้กันว่า ตลอดระยะเวลาสามเล่มในชุดนั้น เมืองซูนิสที่อยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ผู้ซึ่งเป็นลุงของโซฟอสนั้น เปรียบเสมือนตัวร้ายที่คอยระรานเมืองเอ็ดดิส และแอตโตเลีย และเป็นเมืองที่ยูเจนิดิสต้องใช้สติปัญญาในการเอาชนะ (ในเล่มสอง เรื่อง The Queen of Attolia) แต่การเอาชนะได้ของยูเจนิดิสก็เปรียบเสมือนการเปิดแผลของซูนิสให้คนนอกได้เห็น และทำให้ทุกคนต้องการเอาเปรียบ

เหล่าขุนนางที่ไม่พอใจการปกครองของซูนิส (ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้เรียกผู้เป็นกษัตริย์เ่ช่นกัน) เหล่าบารอนของเขาร่วมมือกันก่อกบฎ แผนการก็คือ การจับตัวรัชทายาทไป และหลังจากสังหารผู้เป็นกษัตริย์แล้ว โซฟอสก็จะกลายเป็นกษัตริย์หุ่นเชิดให้เหล่าบารอนครอบงำ ปัญหาก็คือ พวกกบฎสามารถลักพาตัวโซฟอสออกจากที่พักของเขาได้สำเร็จ แต่กลับทำโซฟอสหายไประหว่างเดินทาง

ไม่มีใครรู้ชะตากรรมของเด็กหนุ่มคนนี้ แต่ในหนังสือเล่มนี้จะเปิดเผยให้คนอ่านรับรู้ เรื่องราวของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ การตัดสินใจที่ยากเย็น และการเรียนรู้ที่จะเป็นกษัตริย์ ชะตากรรมที่โซฟอสไม่เคยคิดว่าคู่ควรกับเขา แต่กลับเป็นสิ่งที่เขาต้องแบกรับเอาไว้ ภาระที่อาจทำให้เขา และเพื่อนที่สนิทด้วยที่สุดอย่างยูเจนิดิสจะต้องกลายเป็นศัตรูระหว่างกัน

แม็กซ์คงต้องสารภาพตามตรงว่า แม้เราจะคลั่งไคล้หนังสือชุดนี้อย่างมาก แต่ก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกแปลก ๆ ไปบ้างที่โฟกัสของเรื่องเปลี่ยนจากตัวยูเจนิดิสมาที่โซฟอส ในสามเล่มที่เขียนออกมาก่อนหน้า โซฟอสคือรัชทายาทที่ดูไม่ค่อยเอาไหนนักของบัลลังค์ซูนิส ไม่มีอะไรที่เทียบกันได้เลยกับยูเจนิดิส การให้เขามาเป็นตัวเอกและดำเนินเรื่องดูแล้วอาจจะไม่สมศํกดิ์ศรี หรือน่าสนใจเท่าไหร

หลังจากได้อ่านเรื่องนี้จบลง ความจริงก็คือโซฟอสไม่ใช่ยูเจนิดิส เขาไม่ได้หลอกลวงคนเก่งเหมือนที่อดีตจอมโจรทำได้ ไม่ได้มีปัญญา หรือเจ้าเล่ห์เท่า แต่เมแกน วาเลน เทิร์นเนอร์ก็รู้ความจริงข้อนี้ดี ดังนั้นเธอไม่ได้พยายามทำให้โซฟอสคือยูเจนิดิส

แต่โซฟอสก็คือโซฟอส และนั่นทำให้หนังสือเล่มนี้น่าอ่านอย่างมาก

ในเรื่องนี้คนอ่านได้เข้าใจการเติบโตของโซฟอส จากเด็กชายผู้เลือกที่จะใช้ชีวิตเป็นทาส หลังจากที่หลบหนีจากการจับกุมของฝ่ายกบฎได้ โซฟอสพอใจชีวิตที่เป็นอยู่ เขาเป็นลูกชายที่ไม่ได้เรื่อง เป็นรัชทายาทที่ไม่เอาไหน แต่เป็นทาสที่มีความสามารถ โซฟอสพอใจชีวิตการเป็นทาส เพราะเขาสามารถใช้ชีวิตอย่างเงียบ ๆ ไม่ต้องคิดมาก ไม่ได้มีภาระให้แบก หรือการตัดสินใจที่ยากเย็น

แต่เมื่อถึงจุดนึง คำกล่าวที่ว่า กษัตริย์ก็คือกษัตริย์ โซฟอสเลือกทางเดินที่เขารู้ว่า จะไม่ง่าย และเต็มไปด้วยความยากลำบาก ซึ่งอาจหมายถึงการตัดสินใจที่ยาก เขาเลือกที่จะเดินกลับเข้าไปในชีวิตแห่งการแก่งแย่งชิงดีอีกครั้ง เมื่อเขาพบผู้เป็นบิดาที่เดินทางมาเจรจากับพวกกบฎ โซฟอสตัดสินใจดั่งเช่นชายผู้มีสายเลือดกษัตริย์ตัดสินใจ เขาเลือกชีวิตที่อาจจะวุ่นวาย แต่เป็นหน้าที่ โซฟอสกลับคืนสู่โลกของเขาอีกครั้ง

เพื่อที่จะพบว่า เขาไม่ใช่แค่รัชทายาทอีกต่อไป หากแต่เขาได้กลายเป็นซูนิส (หรือเป็นกษัตริย์) ไปแล้ว เพราะผู้เป็นลุงได้เสียชีวิตลง แต่ประเทศที่โซฟอสได้ปกครองไม่ใช่บ้านเมืองที่สงบสุข แต่กำลังแตกออกเป็นฝ่าย ๆ และทุกคนก็ล้วนต้องการชิ้นส่วนของซูนิส

หนึ่งในนั้นก็คือประเทศเมเด มหาอำนาจใหญ่จากภาคพื้นทวีป ที่หวังจะใช้เมืองซูนิสเป็นบันไดในการยึดครองดินแดนคาบสมุทรแห่งนี้ ทางเลือกของซูนิสที่ถูกเสนอก็คือ การเป็นพันธมิตรกับเมเด อย่างที่พวกกบฎต้องการ หรือหันไปเป็นมิตรกับเมืองเมเลนเซ่ ศัตรูอีกฝั่งนึง

และโซฟอสเลือกแอตโตเลีย เพราะเขามั่นใจในตัวกษัตริย์แห่งแอตโตเลีย ชายผู้ที่เขาเชื่อว่าคือเพื่อน ดังนั้นเขาจึงออกเดินทางตรงไปยังแอตโตเลีย และทำการเจรจาเพื่อขอกองทัพและการสนับสนุนจากแอตโตเลียเพื่อให้ช่วยซูนิสจากสงครามกลางเมือง แลกกับการเป็นประเทศราชของแอตโตเลีย

ทว่ากษัตริย์แห่งแอตโตเลีย ดูราวกับจะไม่ใช่คนเดียวกับยูเจนิดิส ผู้ที่โซฟอสคิดว่าเป็นเพื่อนอีกต่อไป มิตรภาพดูจะถูกทำลายเพราะบทบาทที่ทั้งสองจำใจต้องรับ

เช่นเดียวกับเรื่อง The King of Attolia ที่เหตุการณ์หลายอย่างในเล่มนี้เต็มไปด้วยความแยบคายอันแสนชาญฉลาด แม็กซ์ต้องอ่านด้วยความระมัดระวังกับความหมายนัยที่ซ่อนอยู่ ความชาญฉลาดของตัวละครทำให้เรื่องนี้เต็มไปด้วยเสน่ห์

แต่ฉากที่ได้ใจแม็กซ์มาก ๆ อยู่ตอนท้ายเรื่อง (สปอยล์) เมื่อโซฟอสรู้ราคาของการกษัตริย์ ที่เขาต้องตัดสินใจทำในสิ่งที่ยากเย็น นั่นคือการฆ่าคนที่ไม่ได้พกอาวุธ และใช้พระเดชในการปกครองเหล่าบารอน เพราะการใช้เหตุผลไม่มีทางที่จะทำได้ เมื่อสถานการณ์เรียกร้อง โซฟอสก็ทำได้ทุกอย่างในฐานะกษัตริย์

แม็กซ์ขอเรียกคอนเซ็ปต์ของหนังสือเล่มนี้ว่า ราคาของการเป็นกษัตริย์ คำพูดของราชินีแห่งเอ็ดดิสบ่งบอกความหมายที่ดีที่สุด

"We are not philosophers; we are sovereigns. The rules that govern our behavior are not the rules for other men, and our honor, I think, is a different thing entirely, difficult for anyone but the historians and the gods to judges." (p. 295 - 296)

ส่วนเดียวที่เรารู้สึกว่า คนแต่งหาทางออกให้ง่ายเกินไปก็คือ (สปอยล์) การรวมเอาเอ็ดดิสเข้ามาเป็นประเทศราชของแอตโตเลีย และเท่ากับการรวมสามชาติแห่งคาบสมุทรแห่งนี้เข้าไว้ด้วยกัน เหตุผลที่ราชินีแห่งเอ็ดดิสยอมให้มันเกิดขึ้นดูเป็นเรื่องของพรหมลิขิตมากเกินไป แต่มันไม่ได้ผิดปกติไปจากธีมของเรื่องชุดนี้หรอกนะคะ เรื่องความฝันของเฮเลน (ราชินีแห่งเอ็ดดิส) เกี่ยวกับการล่มสลายของเอ็ดดิสเคยถูกกล่าวถึงมาแล้วในเล่มก่อนหน้า แต่แม็กซ์อยากเห็นยูเจนิดิสใช้สติปัญญาในการบรรลุสิ่งนี้มากกว่าน่ะค่ะ

เป็นหนังสืออีกเรื่องที่ทำให้เราต้องคิดเยอะมาก ๆ ขณะที่อ่าน และหลังจากอ่านจบแม็กซ์ก็ยังไม่รู้เลยค่ะว่า เราจะทำยังไงในระหว่างที่รอคอยเล่มต่อไปออกขาย อยากจะคร่ำครวญว่า ทำไมคนแต่งถึงใช้เวลาเขียนแต่ละเล่มนานอย่างนี้ (ซึ่งอาจะเป็นเพราะเรื่องราวของเธอเต็มไปด้วยความซับซ้อนที่ให้คิดก็ได้ค่ะ)

คะแนนที่ 83



View all my reviews

No comments: