Monday, October 7, 2013

Review: The Wicked Deeds of Daniel Mackenzie


The Wicked Deeds of Daniel Mackenzie
The Wicked Deeds of Daniel Mackenzie by Jennifer Ashley

My rating: 3 of 5 stars



เราหยิบเล่มนี้มาอ่านด้วยความขยาด ยอมรับเลยค่ะว่า กลัวมากว่าจะไม่สนุก เนื่องจากเราชอบหนังสือชุดนี้มาก ๆ นะคะ และคิดว่าทุกเล่มในชุดอยู่ในระดับดีถึงดีมาก (โดยเฉพาะเล่มหลักสี่พี่น้อง) คาแร็คเตอร์ของเดเนียลก็โดดเด่นมาตั้งแต่เล่มแรก เราอ่านไปก็เหมือนมองเห็นเขาเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นพอคนแต่งกระโดดขึ้นไทม์แมทชีน พาคนอ่านไปเห็นเดเนียลตอนเป็นหนุ่มวัยยี่สิบห้าปี และกำลังจะพบรักเป็นหลักเป็นฐาน เราก็เลยลุ้นเยอะหน่อย

ความยากของการเขียนเรื่องนี้ก็คือ จะเขียนยังไงให้เรื่องราวของผู้ชายวัยยี่สิบห้าปีที่มีพร้อมทุกอย่าง มาจากครอบครัวที่อบอุ่นมาก ๆ แม้จะมีวัยเด็กที่ตะกุกตะกักเล็กน้อย แต่ไม่ใช่ประเด็นจนขนาดเป็นบาดแผลฝังใจ จะทำยังไงให้เขามีความน่าสนใจมากพอที่จะดำเนินเรื่องได้ทั้งเล่ม

คำตอบก็คือ ทำไม่ได้ค่ะ เราว่าคาแร็คเตอร์ของเดเนียลสดใสสมบูรณ์แบบเกินไป และนี่คงเป็นเหตุผลที่ Jennifer Ashley จับคู่ให้เขากับไวโอเล็ต หญิงสาววัยเกือบสามสิบปีผู้กร้านโลก เรารู้สึกว่า เรื่องต้องยืมเอาปัญหาของไวโอเล็ตมาเป็นพล็อตในการผลักดันเรื่อง เพราะเดเนียลไม่มีปัญหาในชีวิต และอยู่ในสถานะที่ไม่มีใครสามารถแตะต้องเขาได้ (เพราะครอบครัวอันทรงอิทธิพลของเขา) ภาระหนักจึงตกแก่นางเอก

และนั่นทำให้เรื่องราวผิดธีมของหนังสือชุดนี้ไปเล็กน้อย เพราะถ้าสังเกตดูให้ดี เล่มก่อนหน้าคาแร็คเตอร์ที่มีปัญหา และต้องเอาชนะอุปสรรคเพื่อก้าวข้ามอดีตอันเลวร้ายของตัวเองก็คือ พระเอก ในขณะที่คาแร็คเตอร์ของนางเอกเป็นเหมือนไม้ประดับ (อาจจะยกเว้นเอนสลีย์จากเรื่อง The Many Sins of Lord Cameron) เล่มนี้เราไม่ได้บอกว่า เดเนียลเป็นไม้ประดับนะคะ แต่เขาอยู่ในสภาพผู้ให้การสนับสนุน ในขณะที่เรื่องราวโฟกัสอยู่ที่ไวโอเล็ต

เราคงไม่ต้องพูดอะไรมากเกี่ยวกับความรู้สึกที่เรามีต่อพระเอก เราชอบเขามาก ๆ ตั้งแต่อ่านเจอในเล่มแรก (The Madness of Lord Ian Mackenzie) ข้อดีก็คือ ในเล่มนี้เราไม่รู้สึกว่า เขาเปลี่ยนแปลง คนแต่งไม่ได้เลือกทางออกที่ง่าย ด้วยการสร้างปัญหาชีวิตในช่วงเวลาที่หายไป (ช่วงระหว่างเรื่องThe Untamed Mackenzie กับเล่มนี้) เขาเติบโตเป็นชายหนุ่มที่งดงามทั้งภายในและภายใน เป็นนักประดิษฐ์ผู้ปราดเปรื่อง มองโลกในแง่ดี แต่ไม่ไร้เดียงสา ในแง่นึงเดเนียลสมบูรณ์แบบเกินเหตุ

มาถึงนางเอก ตอนที่อ่านบทแรกเรากลัวมากเลยนะคะ เมื่อเปิดเรื่องมาว่า นางเอกอยู่ในบ้านของชายที่ติดหนี้พนันกับเดเนียล กลัวมากว่าจะเป็นเรื่องอดีตนางบำเรอตกอับ เราต้องถอนหายใจโล่งอกค่ะ เพราะไม่ใช่พล็อตแบบนั้น ไวโอเล็ตต้องเรียนรู้ที่จะเอาตัวรอดตั้งแต่เด็ก เพราะมารดาที่ (ดูเหมือนว่า) มีความสามารถพิเศษในการติดต่อกับโลกของวิญญาณได้ แต่ดูแลตัวเองไม่เป็น เธอจึงต้องกลายเป็นผู้ดูแลแทน ตลอดทั้งชีวิตไวโอเล็ตเอาชีวิตรอดด้วยสติปัญญา อาจจะไม่ใช่ด้วยการทำตามกฎหมายทุกอย่าง แต่เธอก็มีชีวิตรอด เธอไม่วางใจใครง่าย ๆ อย่างน้อยก็จนกระทั่งได้พบกับเดเนียล ชายคนที่ดูเหมือนจะมองทะลุเข้าไปภายในหัวใจของเธอได้ เขาคือคนแรกที่เสนอความช่วยเหลือโดยไม่หวังอะไรตอบแทน คือคนที่เธอสามารถเป็นตัวของตัวเองได้

เราชอบความสัมพันธ์ระหว่างเดเนียล และไวโอเล็ต และชอบมาก ๆ ที่พระเอกยอมรับตัวตนของนางเอกได้โดยที่ไม่เคยคิดที่จะเปลี่ยนเธอ เขามองการหลอกลวงของไวโอเล็ตว่าเป็นความสามารถ เทคนิคในการหลอกคนว่า เธอสามารถติดต่อกับโลกแห่งวิญญาณได้เป็นความปราดเปรื่อง เราชื่นชมคนแต่งในจุดนั้นค่ะ ดังนั้นในแง่นี้เราคิดว่า การจับคู่เดเนียล และไวโอเล็ตเป็นความคิดที่ดี

แต่ในขณะที่อ่าน เรารู้สึกว่า คาแร็คเตอร์ของไวโอเล็ตไม่คงเส้นคงวา อาจจะเป็นไปได้ว่า คนแต่งพยายามที่จะทำให้เธอดูอ่อนไหวเมื่อเธอได้พบกับชายที่ไว้วางใจได้ แต่เรารู้สึกว่า สำหรับผู้หญิงที่ใช้ชีวิตตามลำพัง (เพราะแม้จะมีมารดา แต่ก็ไม่เคยช่วยอะไรเธอเลย) มีชีวิตรอดกับการหลอกลวง ไวโอเล็ตไม่น่ามีด้านที่เปราะบางขนาดนี้ โดยเฉพาะช่วงที่เดเนียลและครอบครัวโผล่ไปช่วยเธอออกมาจากคุก และพาเธอไปอังกฤษ เรารู้สึกว่า ตัวตนของไวโอเล็ตหายไปเลย เหลือไว้แต่ผู้หญิงที่ช่วยตัวเองไม่ได้

โดยรวมเราชอบเล่มนี้มากกว่า The Seduction of Elliot McBride นะคะ แต่ยังไม่ได้ระดับกับสี่เล่มแรกในชุด ซึ่งเห็นได้ชัดมาก โดยเฉพาะเวลาที่บรรดาลุง ๆ และคุณพ่อของเดเนียลมีบท แทบจะเรียกว่าขโมยซีนไปจากพระเอกหนุ่มน้อยของเราไปเลย (สำหรับเราแน่นอนว่า เวลาที่ลอร์ดเอียนโผล่มา เราก็แทบจะหยุดหายใจ ประมาณว่า ได้เห็นเงาก็กรี๊ดแล้ว) เราคิดว่า คงจะเป็นเพราะคาแร็คเตอร์ที่ไม่สมดุลกันเท่าไหรนัก เดเนียลที่สมบูรณ์แบบไปทุกอย่าง กับไวโอเล็ตที่ต้องรับบทหนักกลายเป็นคนที่มีปัญหาตลอด (เพราะเดเนียลจะมีปัญหาได้อย่างไร มาจากครอบครัวแบบนั้น เขาถูกปกป้องและคุ้มครองอยู่แล้ว)

เล่มนี้ทำให้เรามองเห็นอนาคตของชุดนี้เลยนะคะ เราไม่แน่ใจว่าตีความถูกไหม แต่ดูเหมือนคนแต่งก็จะมีแผนเขียนต่อไปยังรุ่นลูกคนอื่น ๆ (ซึ่งจะทำให้เรื่องถูกผลักออกไปราว ๆ ปี 1910 กว่า ๆ ได้ช่วงเวลา Downton Abbey พอดี) เราไม่รู้ว่า จะทำยังไงให้ตัวละครเหล่านั้นน่าสนใจได้ เพราะพวกเขามีทุกอย่างมาตั้งแต่เกิดแล้ว และถ้าหาคนแต่งใช้แผนพรากทุกอย่างไปจากพวกเขา เราก็ห่วงใยคาแร็คเตอร์ดั้งเดิมค่ะ (ที่เป็นพ่อแม่) สงสารน่ะค่ะ (ทำให้คิดถึงเรื่อง The Bargain Bride ของแมรี โจ พัทนีย์ที่โหดกับนางเอกที่เป็นลูกสาวของพระนางเล่มก่อน ๆ มาก เพื่อทำให้เธอมีชีวิตที่น่าสนใจ) เราเลยสองใจค่ะ เพราะชอบชุดนี้ อยากเห็นตัวละครที่เราชอบมีบทบาทอีก แต่ถ้าเขียนต่อแล้วไม่น่าสนใจก็น่าเสียดาย ถ้าเขียนให้น่าสนใจแต่ทำร้ายตัวละครที่เรารัก ก็รับไม่ไหวอีก

สรุปว่าเขียนเรื่องวันคริสต์มาสออกมาเรื่อย ๆ แล้วกัน ไม่ต้องมีสาระอ่านเอาหายคิดถึงก็พอ

กลับเข้าเรื่องค่ะ เรื่องนี้ถือว่าอ่านได้สนุกนะคะ แต่ยังเทียบกับสี่เล่มแรกในชุดไม่ได้ คะแนนที่ 73



View all my reviews

No comments: