Tuesday, February 10, 2009

All Night Long // Jayne Ann Krentz

ยุคที่ดีที่สุดของเจนย์ แอน เครนซ์ผ่านพ้นไปแล้วค่ะ ยุครุ่งเรืองที่เธอเขียนได้ดีที่สุดอยู่ในระหว่างช่วงปี 1988 - 1998 โดยประมาณ ยุคนั้นไม่ว่าเธอเขียนอะไรออกมา ในนามปากกาไหนก็ถือเป็นมาสเตอร์พีชของแม็กซ์เสมอ ไม่ว่าจะเป็น Absolutely, Positively (1995), Wildest Heart (1993), Family man (1992) หรือจะเป็นงานในนามปากกาอแมนด้า ควิกอย่างเรื่อง Scandal (1991), Seduction (1990) หรือแนวไซไฟนอกโลกอย่าง Zinnia (1997)

ยุคทองของเธอผ่านไปแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าเธอจะตกจนไปอยู่ในระดับเดียวกับนักเขียนบางคนที่แม็กซ์ ถึงกับเลิกอ่านไปแล้วอย่างจู๊ด เดฟเวอร์โรซ์ หนังสือของเจนย์ยังอยู่ในระดับดีถึงดีมาก เพียงแต่มันไม่ง่ายถ้าคุณจะกลับไปเป็นอันดับหนึ่งเหมือนในอดีต

หนังสือเล่มใหม่ของเธอ แม้จะไม่ใหม่ที่สุด เพราะแม็กซ์ไม่ยอมลงทุนซื้อปกแข็งของเธอมาอ่าน ดังนั้นจึงเป็นแค่ปกอ่อนที่เพิ่งออก หนึ่งปีหลังจากปกแข็งอย่างเรื่อง All night long จึงเป็นอีกเรื่องนึงที่แม็กซ์ให้เกรดในระดับดีกับเธอ มันอาจไม่ดีเท่ากับเรื่องในอดีต แต่ก็ไม่ได้เลวร้าย และดีกว่างานที่ดีที่สุดของนักเขียนบางคน

อะไรทำให้แม็กซ์ติดใจงานของเจนย์ การอธิบายแม็กซ์คงต้องยืมเหตุผลที่เพื่อนของแม็กซ์เคยพูดเอาไว้ "พระเอกและนางเอกของเจนย์ แอน เครนซ์เกิดมาเพื่อกันและกัน"

นั่นเป็นสิ่งที่รู้สึกและสัมผัสได้ในงานเกือบทุกเล่มของเธอ นางเอกของเธออาจจะไม่สวย สาว ใส ไร้เดียงสาไม่ประสาโลก อาจเป็นผู้หญิงที่ถูกตราหน้าว่าขึ้นคาน (อย่างในงานในนามปากกาอแมนด้า ควิกเกือบทุกเล่มของเธอ) พระเอกอาจไม่เข้าข่ายคำว่าหล่อเหลา ดูเป็นคนแข็ง และน่ากลัว บางครั้งก็เกิดขีดการยอมรับได้ของสังคมปกติ แต่เมื่อทั้งคู่มาเจอกัน ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทั้งสองเกิดมาเพื่อกันและกัน

ใน "ค่ำคืนอันยาวนาน" ไอรีนถูกตราหน้าว่าเป็นคนผิดปกติ ถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีปัญหาทางจิตหลังจากเจอกับการตายของพ่อและแม่เมื่ออายุ ได้เพียงสิบห้าปี ในขณะที่ลุคถูกตั้งข้อสงสัยจากครอบครัวว่ากำลังมีปัญหาทางจิตอีกเช่นกันหลัง จากปลดประจำการจากทหาร เพียงแว่บแรกที่เห็นตัวละครสองตัวนี้ คนอ่านก็รู้ได้ในทันทีว่าทั้งคู่เหมาะสมกันมากเพียงใด

มันไม่ใช่การบรรยายของคนแต่งที่เฝ้าบอกคนอ่าน (เหมือนนักเขียนไร้ฝีมือบางคนที่ต้องอาศัยการบอกคนอ่าน) แต่เจนย์ทำให้คนอ่านซึมซับความเหมาะสมของทั้งคู่ไปเอง นั่นเป็นเสน่ห์ของเจนย์ แอน เครนซ์ที่น้อยคนนักยากจะเลียนแบบได้

สิ่งที่เราชอบอีกอย่างในงานของเจนย์ ก็คือการใช้ครอบครัวของตัวเองเป็นองค์ประกอบของเรื่อง พวกนั้นอาจเข้าใจตัวเอกผิดไป (อย่างที่นิคโดนใน The Golden Chance) แต่ท้ายที่สุด ครอบครัวก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของตัวละคร ค่านิยมอย่างตะวันออกที่ผสมในเรื่องราวของตะวันตก ทำให้แม๊กซ์ชอบนัก อีกอย่างเจนย์เก่งในเรื่องการเลือกส่วนผสมระหว่างการรักครอบครัว กับการถูกครอบครัวครอบงำได้ดี ซึ่งอลิซาเบ็ธ โลเวลสอบตกในชุดนี้ (อยากรู้ว่าเป็นไง ลองไปอ่าน Jade Island ดูค่ะ) ตัวเอกรักครอบครัว แต่ไม่ยอมเป็นพรมเช็ดเท้าให้ครอบครัวเหยียบยำ มีขอบเขตบางอย่างที่ไม่อาจก้าวข้ามหรือยอมให้ย่ำยีได้

แม็กซ์คงติดตามอ่านงานของเจนย์ตลอดไป เพราะแม้เธอจะไม่ยอดเยี่ยมเหมือนก่อน แต่อย่างน้อยงานของเธอก็ไม่เคยทำให้ผิดหวัง

No comments: