Thursday, September 18, 2014

Review: The Devilish Montague


The Devilish Montague
The Devilish Montague by Patricia Rice

My rating: 3 of 5 stars



เราอ่านบทความนึงในอินเตอร์เน็ตซึ่งพูดถึง ความสำคัญของลูกชายคนรอง โดยเฉพาะในประวัติศาสตร์อังกฤษ เนื่องจากบุคคลที่สร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ หรือประสบความสำเร็จมาก ๆ หลายคนไม่ใช่ลูกชายคนที่เป็นทายาทที่สืบทอดบรรดาศักดิ์ หากแต่เป็นลูกชายคนรอง คนที่ไม่มีส่วนที่จะได้รับมรดกตกทอดของวงค์สกุล พวกเขาเหล่านี้คือคนที่สร้างรากฐานของประเทศ

ลอร์ดเนลสัน แม่ทัพเรือชื่อดัง (คนที่รูปปั้นอยู่ที่จตุรัสทราฟัลกรา), ดยุคแห่งเวลลิงตัน แม่ทัพผู้เอาชนะนโปเลียน, หรือกระทั่งวิลเลียม พิตต์ นายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดของอังกฤษ ทั้งหมดล้วนเริ่มต้นชีวิตด้วยการเป็นลูกชายคนรอง

นั่นทำให้เราเริ่มสนใจหนังสือที่พูดถึงบรรดาลูกชายคนรองมากขึ้น เพราะเขาเหล่านั้นไม่ได้เกิดบนกองเงินกองทอง จุดเริ่มต้นของชีวิตแทบจะไม่แตกต่างอะไรจากคนสามัญทั่วไป แต่คงต้องบอกว่า หาหนังสือที่เล่าเรื่องราวของพวกเขาได้ยากมากนะคะ เพราะในโรแมนซ์ มันง่ายกว่าที่จะให้พระเอกเป็นดยุค ขุนนางผู้มีบรรดาศักดิ์สูงสุดในแผ่นดิน กระทั่งนักเขียนก็เคยออกมาพูดว่า เธอเต็มใจที่จะเขียนเรื่องที่พระเอกเป็นคนธรรมดา แต่สำนักพิมพ์ไม่สนใจที่จะตีพิมพ์ เพราะคนอ่านชอบตัวละครที่มีบรรดาศักดิ์

ดังนั้นเมื่อเราเห็นพล็อตเรื่องของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งตัวพล็อตเองก็ถูกใจเราอยู่แล้ว (การแต่งงานเพื่อความสะดวก) แถมยังเป็นเรื่องของลูกชายคนรองที่มีเวลาว่างในชีวิตมากเกินไป ฉลาดเกินไป ที่จะใช้ชีวิตว่างเปล่าไปวัน ๆ เขากลับดิ้นรนที่จะเป็นบางสิ่ง สร้างบางอย่าง แต่ด้วยความที่เป็นลูกคนรอง ไม่มีใครมองศักยภาพของเขาออก หรือมองเห็นแต่ไม่คิดว่ามีความสำคัญอะไร

หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มที่สองในชุด The Rebellious Sons เรื่องราวของเหล่าลูกชายคนรองที่ไม่มีบรรดาศักดิ์ และต้องดิ้นรนหาชีวิตที่เป็นของตัวเอง ซึ่งถ้า่เราเข้าใจไม่ผิด คนแต่งน่าจะตั้งใจเล่าเรื่องราวของคาแร็คเตอร์อีกหลายคนค่ะ แต่ดูท่าทางแล้ว เล่มนี้อาจจะเป็นเล่มสุดท้ายที่ได้รับการตีพิมพ์แล้วล่ะค่ะ เพราะข่าวว่าปีหน้า คนแต่งจะต้องหันไปเขียนหนังสือแนว Urban Fantasy ตามกระแสแล้วล่ะ (ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก เพราะคาแร็คเตอร์ที่เหลืออยู่ล้วนน่าสนใจทั้งสิ้น)

เบลค มองเตกิวฉลาดเกินไป ไม่มีอธิบายอะไรอื่นได้ ถ้าเพียงแต่เขายอมรับสภาพชีวิตของตัวเอง ถ้าเพียงแต่เขายอมรับที่จะเป็นลูกชายคนรองของครอบครัวผู้มีอันจะกินที่ไม่ต้องการให้เขาเสี่ยงชีวิตในสงคราม แต่เบลคต้องการมากกว่านั้น เขาต้องการทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ และสำหรับนักคิดและผู้คงแก่เรียน เบลครู้ว่า เขาสามารถไขรหัสลับที่เหล่าสายลับฝรั่งเศสใช้ได้ แต่เบลคต้องการข้อมูลเพิ่ม ข้อมูลที่เขาไม่มีหากยังอยู่ในลอนดอน ดังนั้นเบลคต้องการไปร่วมรบกับเวลส์ลีย์ (ที่ต่อมากลายเป็นดยุคแห่งเวลลิงตัน) เพื่อเก็บข้อมูลเพิ่ม แต่ในฐานะของลูกชายคนรอง เบลคซึ่งได้รับการปกป้องจากครอบครัว สกัดกั้นความต้องการจะเป็นทหารของเขาเอาไว้ เบลคไม่มีทางเลือกนอกจากอยู่ในลอนดอนต่อไป

จนกระทั่งผู้เป็นพ่อของเขาเสนอบ้านที่ (พ่อของ) เขาชนะจากการพนัน โดยบอกว่า จะให้เบลคหากเขาแต่งงานลงหลักปักฐานเสียที และเจ้าบ้านหลังนี้เองล่ะที่เป็นที่สนใจของโจเซลิน เบิร์ด-คาร์ริงตัน หญิงสาวผู้ซึ่งเพิ่งได้รับของขวัญเป็นสินสอดจากญาติที่เสียชีวิตไป

โจเซลินเติบโตมาในบ้านหลังนั้น แต่เธอ น้องชายผู้มีอาการของโรคแอสเพอร์เจอร์ (โรคเดียวกะลอร์ดเอียน จาก The Madness of Lord Ian MacKenzie) และมารดา ถูกพี่ชายต่างมารดาซึ่งกลายเป็นเจ้าของหลังจากความตายของผู้เป็นบิดาขับไล่ออกไป จากนั้นโจเซลีนต้องระหกระเหินไปอยู่กับพี่สาวต่างมารดา ก่อนที่จะความเพี้ยนของมารดาและน้องชาย จะทำให้พวกเธอโดนไล่จากบ้านหลังนึงไปอีกหลังนึง

การที่พบกับเบลค และรู้ว่า ถ้าหากแต่งงานกับเขา เธอจะได้มีบ้านเป็นของตัวเอง สถานที่ที่ซึ่งไม่มีใครขับไล่เธอได้อีก แถมยังเป็นบ้านหลังเก่าของเธอเสียอีก ทำให้โจเซลีนยอมตกลงใจแต่งงานเพื่อความสะดวกกับชายหนุ่มผู้ไม่ได้ปกปิดความตั้งใจของเขาเลยว่า จะเอาเงินสินสอดของเธอไปซื้อยศทหารเพื่อไปร่วมรบ

แต่พ่อแม่ของเบลคก็เหนือชั้นกว่านั้น พวกเขาใส่เงื่อนไขเข้าไปในสัญญาการแต่งงานว่า หากเบลคเสียชีวิตก่อนการแต่งงานครบรอบหนึ่งปี โจเซลีนจะไม่มีสิทธิในบ้านหลังนั้นเลย ก็เพื่อให้โจเซลีนช่วยป้องกันลูกชายไม่ให้ไปรบอีกคน

การแต่งงานเพื่อความสะดวกจึงเกิดขึ้น และก็เหมือนคำอธิบายที่ปกหลังของเรื่องค่ะ มันเป็นการแต่งงานเพื่อความสะดวกที่ไม่สะดวกเอาเสียเลย เพราะทั้งโจเซลีน และเบลคไม่เคยคิดว่า มันจะวุ่นวายแบบนี้ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่เคยคิดเลยว่า ชีวิตของพวกเขาจะครบถ้วนมากขึ้น

เบลคเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่น เขาเข้าใจแม่และน้องชายของโจเซลินมากกว่าคนอื่น ๆ และไม่มีปัญหาในการอยู่ร่วมกับคนทั้งคู่ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน และเบลคยังไม่ใช่คนที่โจเซลีนมีหน้าที่ต้องดูแล ไม่เหมือนแม่หรือน้องชายที่ติดอยู่ในโลกของตัวเอง โจเซลินเป็นคนเดียวที่ดูแลทั้งหมด แต่กับเบลคเธอได้ใครสักคนที่พึ่งพาได้ ไว้ใจได้ และแบ่งเบาภาระอันหนักอึ้งบนบ่าลงไป

ในทางกลับกันการที่เขาเป็นคนที่ฉลาดเกินไป เก่งเกินไปที่จะเป็นลูกชายคนรอง ซึ่งไม่มีใครถือสาเขาจริงจัง เบลคถูกมองว่าเป็นตัวปัญหา และก่อเรื่อง เพราะพลังในการมีชีวิตที่เต็มที่มากเกินไป แต่เมื่อเขาอยู่กับโจเซลิน ซึ่งเคยชินกับการเป็นแม่งานของนักการเมืองและผู้ทรงอำนาจ (เพราะพ่อของเธอก่อนเสียชีวิตเป็นนักการเมือง) เธอทำให้คนอื่นมองเบลคด้วยสายตาที่แตกต่างออกไป เห็นเขาในตัวตนที่เขาเป็น

สำหรับเราที่อ่านเรื่องนี้ เรารู้สึกถึงความลงตัวของกันและกันระหว่างเบลคและโจเซลินอย่างยิ่งค่ะ

นี่เรายังไม่ได้พูดถึงริชาร์ด น้องชายของโจเซลีนนะคะ พออ่านเรื่องนี้จบลง แม็กซ์นึกอยากไปหยิบ The Madness of Lord Ian MacKenzie มาอ่านใหม่อีกรอบจริง ๆ คาแร็คเตอร์คล้ายกันในระดับนึง (แม้ว่าริชาร์ดจะมีความเป็นเด็กมากกว่า) เรานึกอยากให้แพทริเซียเขียนเรื่องของริชาร์ดออกมาจังเลยค่ะ

งานเขียนของแพทริเซียไม่ได้ถึงกับลึกล้ำทางอารมณ์ เป็นงานที่อ่านไปได้เรื่อย ๆ สบาย ๆ แต่เราชอบพล็อต ชอบความลงตัวของโรแมนซ์ และนั่นก็มากพอจะทำให้เราชอบเล่มนี้ค่ะ

คะแนนที่ 70




View all my reviews

No comments: