Saturday, January 31, 2009

ทุกอย่างต้องมีจุดเริ่มต้น

มีคนถามแม็กซ์มาสักพักใหญ่แล้วล่ะว่า ทำยังไงถึงอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ แล้วมีวิธีไหนบ้างที่จะทำให้เขาอ่านภาษาอังกฤษได้บ้าง และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่แม็กซ์เจอคำถามอย่างนี้นะคะ

และคำตอบมันก็ไม่ใช่สูตรทางคณิตศาตร์ที่เป็นจริงและได้ผลลัพธ์เดียวกันเสมอ เอาเป็นว่ามันเป็นคำตอบที่ถูกของแม็กซ์คนเดียวแล้วกันค่ะ

ขอเริ่มด้วยการบอกว่า การอ่านนิยายภาษาอังกฤษไม่ได้ยาก หรือน่ากลัวอย่างที่คิด ความยากมันอยู่ที่ตอนเริ่มเท่านั้นแหละค่ะ อย่าคิดว่าตัวเองทำไม่ได้ อย่าคิดว่าตัวเองไม่เก่งภาษาอังกฤษ ไม่มีวันอ่านรู้เรื่อง เพราะแค่คิด คุณก็แพ้ตั้งแต่ยังไม่เริ่มแล้วค่ะ

แม็กซ์เริ่มอ่านนิยายภาษาอังกฤษตอนเรียนม.2 เพราะอยากอ่านเรื่อง The Sum Of All Fears แต่ไม่มีสนพ.ไหนยอมแปลมาให้อ่าน หลังจากส่งจม. & โทรศัพท์ไปหาสนพ.ถามว่าเมื่อไหรจะแปล ก็เจอคำตอบว่า คงอีกนานเพราะตอนนี้ติดปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ แม็กซ์ก็ตาสว่างคิดได้ ทำไมเราต้องมาพึ่งพาชาวบ้านในการอ่านหนังสือด้วยล่ะ แม็กซ์ควักเงิน 160 บาท (ราคาสมัยนั้นดอลล่าร์หนึ่งเท่ากับยี่สิบห้าบาท) ซื้อหนังสือเล่มนี้จากห้างเซ็นทรัลสีลม ใช้เวลาสามวันนั่งอ่าน รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องเป็นส่วนใหญ่ จนจบเล่ม อย่างน้อยก็ได้ความว่าเกิดอะไรขึ้น พระเอกเป็นใคร และมีใครตายในเรื่อง (TSOAF เป็นนิยายบู๊อยู่ในชุดแจ๊ค ไรอัน) ซึ่งนั่นก็พอแล้ว (เชื่อไหมว่า สิบปีต่อมาแม็กซ์กลับมาอ่านนิยายเล่มนี้อีกครั้ง ถึงจะได้ความในรายละเอียดที่เกือบจะไม่เหมือนเดิม แต่สาระสำคัญของเรื่องยังคงอยู่อย่างที่จำได้)

ความรู้สึกที่ได้มันมากยิ่งกว่า ความภาคภูมิใจ ความรู้สึกเป็นอิสระเป็นครั้งแรกที่เราไม่ต้องพึ่งพาสนพ.ในการแปลหนังสือให้ เราอ่านอีกต่อไป มันยอดเยี่ยม และคุ้มค่า

แม็กซ์คิดว่า การเริ่มต้นอ่านนิยายภาษาอังกฤษได้นั้น ข้อแรกมัน ต้องมีความอยากอ่านในนิยายเล่มนั้น ไม่ใช่ว่า จะอ่านเพราะต้องการฝึกฝนภาษาอังกฤษให้แข็งแรง เพื่อเอาไปใช้ในการเรียน การทำงาน แม็กซ์ลองมากะตัวแล้ว ขอบอกว่าไม่เวิร์คค่ะ (มันอาจเวิร์คสำหรับบางคน แต่ไม่ใช่แม็กซ์) เพราะความมุ่งมั่นและแรงใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้เราทำในสิ่งที่ไม่ คิดว่าตัวเองจะทำได้ (และในที่นี้คือการอ่านภาษาอังกฤษ)

ลองนึกดูนะคะ เราอ่านนิยาย ก็เพราะเราคาดหวังความสนุก แต่ถ้าเมื่อใดที่เราหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านเพื่อประโยชน์อื่นแล้ว (เช่นท่องหนังสือสอบ) ความน่าเบื่อหน่ายก็จะมาเยือนทันควัน ดังนั้นแม็กซ์ขอแนะนำให้คนที่คิดจะเริ่มต้นอ่าน ให้เลือกนิยายเล่มที่โคตรอยากอ่านสุดสุด แต่ไม่มีใครยอมแปลให้เราอ่าน

นั่นมาถึงข้อสอง คือขอให้เลือกนิยายเล่มที่ยังไม่มีการแปล หลายคนเถียงว่า เลือกเล่มที่แปลแล้วดีกว่า เราจะได้เปิดเทียบว่าที่เราอ่านไปเข้าใจถูกต้องไหม

แม็กซ์ถามกลับง่าย ๆ นะ ถ้าคุณทำข้อสอบแล้วมีเฉลย คุณห้ามตัวเองไม่ให้เปิดดูเฉลยได้ไหม กรณีนี้ก็เหมือนกันแม็กซ์เคยลองกะตัวมาแล้ว ด้วยความที่ชอบนิยายเรื่อง The Bourne Identity ของโรเบิร์ต ลัดลั่มมาก ก็เลยเกิดอาการอยากลองดีซื้อฉบับภาษาอังกฤษมาอ่าน เพื่อหวังเปิดเทียบ ปรากฎว่าจนวันนี้ก็ยังอ่านไม่พ้นหน้าสองค่ะ

เพราะอะไรเหรอคะ

ก็มันขาดแรงผลักดันที่สำคัญไปนะสิคะ หนังสืออาจจะสนุกน่าติดตาม แต่เมื่อมีภาษาไทยที่อ่านง่ายกว่ามาก เราก็เลือกอ่านภาษาไทยดีกว่า นึกอย่างนี้แล้วกัน ถ้าคุณต้องเข้าห้องเรียนที่ใช้ตำราภาษาอังกฤษ แต่ตำราเล่มนั้นมีคนแปลเป็นไทยออกมาขายแล้ว คุณจะทู่ซี้อ่านภาษาอังกฤษต่อไปรึเปล่า

เหตุผลข้อสองนี้มันจะเปลี่ยนสลับไปอีกครั้ง หลังจากคุณอ่านภาษาอังกฤษจนเข้าขั้นแตกฉานแล้ว เพราะเมื่อใดก็ตามที่คุณคิดว่า การอ่านหนังสือแปลเป็นงานทุกคุณภาพด้อยกว่าอ่านจากต้นฉบับจริง จนทำให้คุณเลิกสนใจหนังสือแปลไปโดยปริยาย เมื่อนั้นก็ถือได้ว่า คุณสำเร็จการศึกษาในการอ่านนิยายภาษาอังกฤษแล้วล่ะ

ข้อสาม อ่านรู้เรื่องหรือไม่รู้เรื่องไม่ต้องสนใจ ขอให้อ่านให้จบเล่ม บอกเลยว่า สำหรับนิยายภาษาอังกฤษเล่มแรกนี่ แทบจะไม่มีใครอ่านแล้วได้ความรู้เรื่องหมดหรอกค่ะ นิยายภาษาอังกฤษเล่มแรกที่แม็กซ์อ่านจนจบก็คือ The Sum of all fears ของทอม แคลนซี่ (สมัยนั้นยังไม่รู้จักโรแมนซ์) หนังสือหนามาก บอกตามตรงว่า อ่านแล้วได้ความไม่ถึงครึ่งเรื่อง ที่คิดว่าอ่านรู้เรื่อง แท้จริงแล้วก็ไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร จับใจความได้แค่ว่า ใครเป็นผู้ร้าย ผู้ร้ายมีแผนการยังไง (แต่รายละเอียดของแผนเป็นยังไงอ่านไม่รู้เรื่องหรอกนะคะ) แล้วรู้ว่าจบยังไง เรียกว่าได้ความเท่าที่จำเป็น ไม่แตกฉานรู้ละเอียด

สิ่งที่ได้จากการทำยังงี้ก็คือ ความภาคภูมิใจ ว่า เราก็ทำได้วะ ไม่เห็นยากอะไรเลย และเมื่อเกิดความรู้สึกว่า "หนูทำได้" แล้วเล่มนึง ก็จะรู้สึกว่า เราทำได้ในการอ่านเล่มต่อไป

ข้อสี่ เราอ่านนิยาย ไม่ใช่ท่องหนังสือ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องเปิดดิกชั่นนารี่เพื่อดูคำศัพท์ทุกคำหรอกนะคะ อันที่จริงแม็กซ์ไม่แนะนำให้ใช้ดิกฯเลยด้วยซ้ำ ใช้ Verb to dao เอาค่ะ (แปลว่า เดา) ตอนที่แม็กซ์อ่านเจอคำศัพท์คำว่า "Psychic" ในหนังสือเรื่อง Gift of Gold ของเจนย์ แอนด์ เครซ แม้ว่าตอนนั้นคะแนนโทเฟลจะเลยหกร้อยไปแล้ว (สอบสมัยโบราณน่ะค่ะ) และกำลังเรียนอยู่ในอเมริกา แม็กซ์ก็ไม่รู้ว่าคำนี้หมายความว่ายังไงกันแน่ แต่แทนที่จะเปิดดูคำศัพท์ แม็กซ์อาศัยวิชาทน ทน และทน อ่านไปทั้งที่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร จนกระทั่งศัพท์คำนี้ก็ถูกอธิบายออกมาโดยการกระทำของพระเอก (ที่มีพลังจิต และ Psychic ใช้เรียกคนที่มีพลังจิต)

ข้อดีของวิธีนี้ก็คือ คุณจะจำมันได้แม่นยิ่งกว่าท่องศัพท์ไปสอบเอ็นทรานซ์เสียอีก

การห้ามไม่ให้เปิดดิกฯ ก็เพราะว่า การเปิดคำศัพท์จะเสียเวลา ทำให้อ่านจบได้ช้าลงไปอีก ขอให้จำเอาไว้ว่า ยิ่งอ่านจบช้าเท่าไหร กำลังใจก็จะยิ่งหมด ยิ่งไม่อยากอ่าน และถ้าเปิดไปแล้ว ปรากฎว่า เราอ่านเข้าใจผิดไปหมดทั้งเรื่อง ก็ยิ่งทำให้ใจเสีย

บอกเลยนะคะ หนังสือภาษาอังกฤษเล่มแรกที่คุณอ่าน คุณไม่ได้ความถูกต้องมากมายสักเท่าไหรหรอกค่ะ แม็กซ์เจอคนที่โชว์ออฟตัวเองในฐานะเซียนนิยายภาษาอังกฤษ (พี่แกอ่านภาษาอังกฤษเป็นหลัก) แต่พอฟังอาเจ๊เล่าเรื่องของนิยายเล่มนั้น กลับได้ความไปคนละอย่างกับเรื่องที่มันควรจะเป็นเลย ดังนั้นอย่าท้อแท้ อ่านไม่รู้เรื่องก็คือไม่รู้เรื่อง ขอให้อ่านให้จบเท่านั้นเอง แล้วก็อย่าไปสนใจคนอื่นมากนักด้วย

และเมื่ออ่านจบแล้ว ถ้าคิดจะอ่านภาษาอังกฤษให้แตกฉาน ก็ขอบอกว่า ให้รีบหยิบเล่มถัดไปมาอ่านทันที แล้วก็ใช้วิธีเดียวกัน พยายามอ่านให้จบ

ทำอย่างนี้สักระยะ แล้วคุณก็จะรู้สึกว่า ภาษาอังกฤษมันง่ายนิดเดียวเองค่ะ

No comments: