Friday, January 23, 2009

ประเภทของหนังสือโรแมนซ์

มีหลายคนถามคำถามเกี่ยวกับประเภทของนิยายโรแมนซ์มานะคะ เราก็เลยขอรวบยอดตอบทีเดียวกัน และเนื่องจากเป็นคนขี้เกียจอย่างรุนแรง ดังนั้นจึงขอลอกบทความของแม็กซ์เองที่เคยเขียนลงเน็ตสมัยเมื่อหลายชาติที่ แล้วมาตอบนะคะ

"อันที่จริงการแบ่งประเภทของหนังสือโรแมนซ์เป็นเรื่องที่ว่าง่ายก็ง่าย แต่ถ้าจะทำให้ยากก็ทำได้อีกเหมือนกัน โดยทั่วไปหนังสือโรแมนซ์แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ แนวอิงประวัติศาสตร์ (Historical) แนวร่วมสมัย (Contemporary) และแนวเหนือธรรมชาติ (Paranormal)

แต่แน่นอนว่า เพื่อให้เกิดเป็นบทความขึ้นมาได้ การแบ่งที่กำลังจะกล่าวดังต่อไปนี้จะทำให้เรื่องยุ่งยากขึ้นไปอีก โดยจะแบ่งทั้ง 3 แนวที่กล่าวไปแล้ว ออกเป็นประเภทย่อยลงไปอีก

แนวอิงประวัติศาสตร์ (Historical)

ชื่อก็บอกแล้วว่าอิงประวัติศาสตร์ ดังนั้นการแบ่งจึงขึ้นอยู่กับยุคสมัยเป็นสำคัญ ซึ่งใช้แนวทางกว้าง ๆ แบ่งได้ดังนี้

Pre-historic หรือยุคก่อนประวัติศาสตร์ ยุคนี้ไม่ใช่ว่าจะย้อยไปถึงยุคมนุษย์หินฟรินสโตนอะไรหรอก เพียงแต่ย้อนไปยังยุคกรีก-โรมัน หรืออิยิปต์โบราณเท่านั้นเอง เรื่องแนวนี้ไม่ค่อยมีคนเขียนถึงมากนัก

Conqueror หรือยุคล่าดินแดน เป็นเรื่องแนวไวกิ้งที่คุ้นเคยกันดี เป็นเรื่องของการเดินทางเพื่อแสวงโชค หาดินแดน และความมั่งคั่ง ที่เป็นของตัวเองของเหล่านักรบ มักเกี่ยวพันกับสตรีเจ้าของที่ดินเดิมกับไว้กิ้งผู้พิชิต บางส่วนจะนำเรื่องการสร้างชาติในยุโรปยุคต้นมารวมไว้ด้วย

Medieval หรือยุคกลาง เป็นยุคที่รัฐก่อนตั้งขึ้นเป็นรูปร่างแล้ว แม้ว่าศาสนจักรจะยังคงมีบทบาทอย่างสูง ระบบศักดินา (feudal) ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย การใช้กำลังในการจัดการปัญหายังคงมีอยู่

Renaissance หรือยุคฟื้นฟูศิลปวัฒนาการ ชื่อนี้เป็นชื่อที่เรียกใช้ในเรื่องที่เกิดในดินแดนที่ปัจจุบันเป็นประเทศ อิตาลี ส่วนเรื่องที่เกิดในประเทศอังกฤษมักจะเรียกว่ายุค Elizabethan ทั้งนี้เพราะยุค Renaissance จะตรงกับยุคของพระนางเจ้า Elizabeth ที่หนึ่งแห่งอังกฤษ แต่น่าแปลกที่นิยายโรแมนซ์ที่เกิดในยุคนี้มีไม่มากนัก ทั้งที่เป็นยุคที่ขึ้นชื่อว่าผู้ชายมีเสน่ห์ที่สุดยุคหนึ่ง ว่ากันว่าเป็นยุคที่ชายใช้มือข้างหนึ่งสร้างสรรผลงานทางศิลปะ หรือแต่งบทกวีจีบหญิง ส่วนอีกมือถือกริชที่สามารถปาดคอศัตรูได้ในพริบตา

Restoration อันที่จริงยุคนี้บ่งบอกถึงยุคของพระเจ้าชาลล์ที่ 2 แห่งอังกฤษ ซึ่งเป็นสมัยที่อังกฤษกลับมามีกษัตริย์อีกครั้งหลังจากที่ถูกปกครองโดย Oliver Cromwell มานานสิบกว่าปี เป็นยุคที่ว่ากันว่าบรรดาศักดิ์ดยุคเกิดขึ้นมากที่สุด เป็นยุคที่ความสำราญในราชสำนักถูกนำมาตีแผ่ แนวคิดเกี่ยวกับการปกครองโดยสภาเกิดขึ้น อำนาจของกษัตริย์ที่ริดรอนมากขึ้น

Georgian เป็นยุคที่ความรุ่งเรืองของศิลปวัฒนธรรมขึ้นสู่จุดสูงสุด การแต่งกายของผู้คนจะสวยสดงดงาม มารยาทกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตในสังคม ในขณะเดียวกันสภาพสังคมก็เริ่มเสื่อมโทรมลงสำหรับคนด้อยโอกาส ช่องว่างระหว่างเจ้าของที่ดินกับคนธรรมดาเริ่มห่างมากขึ้น

Regency เป็นยุคสุดฮิตของโรแมนซ์ หนังสือส่วนใหญมักเกิดในยุคนี้ คิดว่าทุก ๆ คนที่อ่านโรแมนซ์คงจะต้องเคยอ่านเรื่องที่เกิดในยุคนี้ เรื่องส่วนใหญ่จะเกิดในห้องบอลรูม วนเวียนอยู่กับฤดูกาลหาคู่ (Season) เรื่องน่ารู้สำหรับหนังสือที่ถูกจัดอยู่ในประเภทนี้ก็คือ มีการแบ่งหนังสือออกเป็น 2 ประเภทย่อยคือ

Traditional Regency เป็นหนังสือที่มีความหนาไม่มากนัก เนื้อเรื่องจะค่อนข้างอนุรักษ์นิยม ไม่มีฉากหวือหวาในเรื่อง แทบจะไม่มีความสัมพันธ์ทางเพศก่อนการแต่งงานของตัวละคร ปัจจุบันหนังสือแนวนี้แทบจะไม่มีอยู่ในท้องตลาด เพราะคนลดความนิยมลง

Regency Historical เป็นเรื่องที่เกิดในยุค Regency เช่นเดียวกับประเภทแรก เพียงแต่ไม่ข้อจำกัดใด ๆ เลย กล่าวว่า เป็นหนังสือที่เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองคนอ่านที่ต้องการเดินตามตัวละครเข้าไป ในห้องนอน

Victorian ในรัชสมัยของพระนางเจ้า Victoria เป็นยุคที่ความยิ่งใหญ่ของประเทศอังกฤษเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลก บางครั้งเป็นเรื่องที่เกิดในวงสังคม คล้ายคลึงกับหนังสือในยุค Regency แต่บางครั้งจะเป็นเรื่องการผจญภัยหาดินแดนใหม่ของตัวเอง อาจเป็นเรื่องที่เกิดในประเทศออสเตรเลีย หรือนิวซีแลนด์ ซึ่งในขณะนั้นมีการส่งนักโทษไปจองจำที่นั่นแล้ว สภาพสังคมในยุคนี้ ซึ่งเป็นยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมด้วย นับว่าเลวร้ายที่สุด คนรวยมีความเป็นอยู่อย่างฟุ้งเฟ้อสุขสบาย ในขณะที่คนจนการลำบากยากเข็ญอย่างแสนสาหัส

หนังสือโรแมนซ์ที่เกิดหลังจากยุค Victorian ยังคงมีบ้าง แต่ไม่มากนักเพราะไม่ค่อยได้รับความนิยม นอกจากนี้ยังมีหนังสือแนวอิงประวัติศาสตร์บางประเภทที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง ใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะนั่นก็คือ

Western เป็นเรื่องที่เกิดในอเมริกาตะวันตก เรื่องของมือปืนรับจ้าง นายอำเภอผู้รักความยุติธรรม การเดินทางมาของสาวน้อยจากทางฝั่งตะวันออกเพื่อค้นหาบิดาที่สูญหาย ปัจจุบันหนังสือ Western กำลังจะสูญหายไปจากท้องตลาด นักเขียนแนวนี้หลายคนต้องเปลี่ยนแนวหันไปเขียนเรื่องแนวอื่น

Americana เป็นเรื่องที่เกิดในอเมริกาเหมือนกันแนว Western แต่จะเป็นเรื่องที่เกิดในเมืองเล็ก ๆ มักเกี่ยวกับผู้คนในเมืองนั้น ตัวละครอาจเป็นคนธรรมดา ไม่มีอะไรพิเศษมากมาย

Scottish Romance ประเทศสก็อตแลนด์เป็นดินแดนที่มีมนต์ขลังกับนักอ่านโรแมนซ์ อาจเป็นเพราะนักรบชาวสก็อตมีความเข้มแข็ง น่าเกรงขาม แต่ก็อบอุ่นกับนางเอกเหลือเกิน

แนวร่วมสมัย (Contemporary)

เรื่องแนวนี้เกิดในยุคปัจจุบัน ดังนั้นการแบ่งคงจะแบ่งมักจะเป็นไปตามแนวเรื่องมากกว่า ซึ่งสามารถแบ่งได้ดังนี้คือ

Category เป็นหนังสือที่มีขนาดหนาไมมากนัก เนื้อเรื่องจะเน้นไปที่ความรักเป็นหลัก คือแทบจะไม่มีการกล่าวถึงประเด็นอื่น ๆ เลย เพราะถูกจำกัดไว้ด้วยจำนวนหน้า ปัจจุบันผู้พิมพ์หนังสือประเภทนี้มีเพียงรายเดียวเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นยักษ์ใหญ่ของวงการโรแมนซ์ทีเดียวนั่นก็คือ Harlequin Enterprises

Contemporary เป็นเรื่องร่วมสมัยทั่วไป คือจะเน้นที่ความรักเป็นหลักอีกเช่นกัน แต่ความหนาจะมีมากกว่าประเภท Category อาจมีประเด็นรองในเรื่อง หรือมีความรักของตัวละครรอง (Secondary Romance)

Romantic Suspense เป็นเรื่องตื่นเต้น มีการสืบสวนสอบสวนค้นหาความลับ แต่สัดส่วนของความรักก็ยังคงมีมากพอกับการสืบสวน เรื่องจะมีความหลากหลายประเด็นมากกว่าประเภทอื่น ๆ ในขณะเดียวกันก็จะไม่ทิ้งเรื่องความรักไว้

Mainstream คล้ายคลึงกับแนว Romantic Suspense แต่จะมีสัดส่วนของความรักของตัวละครเอกในเรื่องน้อยลงอย่างมาก บางเรื่องแทบจะไม่เน้นเรื่องความรักเลย อาจให้ความสนใจประเด็นอื่นในเรื่องมากกว่า

แนวเหนือธรรมชาติ (Paranormal)

หนังสือแนวนี้จะเป็นเรื่องที่คนเราเชื่อกันว่าเป็นไปไม่ได้ตามหลัก วิทยาศาสตร์ ความเชื่อในเรื่องภูติผีปีศาจ ในเรื่องวิญญาณ จะเข้ามีบทบาทอย่างมาก

Time-Travel เป็นแนวหนึ่งที่ค่อนข้างเป็นที่นิยมใน หมู่นักอ่านโรแมนซ์ เป็นเรื่องที่ตัวเอกเดินทางข้ามเวลาไปด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง อาจเป็นการย้อนไปสู่อดีตซึ่งเป็นที่นิยม หรือเป็นการเดินทางไปยังอนาคตก็ได้

Futuristic เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอนาคต ฉากในเรื่องอาจเป็นโลกในอนาคต หรือเกิดขึ้นที่ดาวดวงอื่น อาจมีการนำศัพท์ใหม่ ๆ มาใช้เพื่อบัญญัติความหมายต่าง ๆ มีการสร้างกฎเกณฑ์ในการดำรงชีวิตอยู่ และวัฒนธรรมแปลก ๆ

Fantasy หนังสือแนวนี้คล้ายคลึงกับแนว Futruistic แต่ต่างกันตรงที่จะเกิดในโลกที่พวกเราอยู่กัน เพียงแต่ในนี้จะถือว่ามีความเหนือธรรมชาติอยู่จริง เช่น แวมไพร์ หรือ มนุษย์หมาป่า หรือ เกี่ยวกับวิญญาณ"

บทความอันนี้แม็กซ์เขียนตั้งแต่ปี 2003 ซึ่งในช่วงนั้นหนังสือแนวพารานอมอลยังไม่ได้มาแรงอะไรมากนัก ประเภทของพาราฯ ก็เลยมีไม่เยอะ แต่ตอนนี้คิดว่าถ้าจะแบ่งแยกย่อยก็คงได้เยอะไม่น้อย

กะอีกแนวที่ตอนนั้นแม็กซ์ไม่ได้พูดถึง นั่นก็คือแนวอีโรติก โรแมนซ์ ซึ่งก็มีคำถามเหมือนกันว่า มันแตกต่างกันยังไงกับแนวอีโรติก

ถ้าจะตอบแบบกำปั้นทุบดินก็คงบอกว่า แนวอีโรติค โรแมนซ์ต่างจากแนวอีโรติก ก็ตรงคำว่า โรแมนซ์ไงคะ อธิบายเพิ่มเติมให้ดูไม่น่าเกลียดก็คงได้ความว่า แนวอีโรติค โรแมนซ์แม้จะมีฉากเซ็กส์ที่เอ็กซ์บรรเจิดยังไง แกนหลักของเรื่องก็ยังอยู่ที่ความรัก ในขณะที่แนวอีโรติค แกนหลักจะอยู่ที่เซ็กส์ ต่างกันแค่นี้เองล่ะ

มาถึงคำถามอีกข้อว่า มีเกณฑ์อะไรที่ใช้ในการแบ่งแนวอีโรติก โรแมนซ์ออกจากโรแมนซ์ธรรมดา ถามอีกก็ตอบได้ยากอีก เอาเป็นว่าสำหรับแม็กซ์แล้ว ใช้ความรู้สึกค่ะ ถ้าเมื่อใดก็ตามที่เซ็กส์นำหน้าความรัก หรือเซ็กส์มาก่อนความรัก หรือเรื่องที่เน้นเซ็กส์ชัดเจนมาก ๆ แม็กซ์ก็จะจัดให้เป็นอีโรติค โรแมนซ์ แต่ถ้าเรื่องนั้นความรักมาก่อน ส่วนเซ็กส์ตามมา ไม่ว่าฉากเซ็กส์มันจะฮ็อตร้อนผ่าวขนาดไหน มันก็ไม่ใช่อีโรติค โรแมนซ์

ยกตัวอย่างหนังสือของลิซ่า เคลย์แพส เรื่อง Worth any price ที่ทั้งฮ็อตทั้งเอ็กซ์ แม็กซ์ไม่เคยคิดสักนิดว่าเล่มนี้เป็นอีโรติค โรแมนซ์ แต่เป็นแนวย้อนยุคธรรมดา เพราะแกนของเรื่องไม่ได้เริ่มที่เซ็กส์ และไม่ได้จบลงที่เซ็กส์ ในขณะที่เรื่อง Dreamwalker ของแคธลีน ดังเต้ ที่แม้จะเป็นโรแมนซ์ แต่ก็ถือว่าเข้าข่ายอีโรติก โรแมนซ์

สุดท้ายก็หนีไม่พ้นกำปั้นทุบดินอีกล่ะค่ะ แม็กซ์ว่ามันขึ้นอยู่กะความรู้สึกของเรานะ ประเภทของหนังสือไม่ได้เป็นตัวกำหนด แนวพารานอมอลไม่ใช่แนวที่สนุกที่สุด หรือดีกว่าแนวย้อนยุค มันอาจจะสนุกกว่าสำหรับบางคน แต่ก็ไม่สนุกสำหรับบางคน อย่างม่ามี้ของแม็กซ์นี่ แนวพารานอมอลไม่ต้องมาเฉียดใกล้เลยนะ เคยเอาดาร์ค ฮันเตอร์ให้อ่านไปครั้งนึง แล้วก็โดนด่าชนิดอุดหูไม่ทัน ว่าเอาหนังสือบ้าอะไรมาให้อ่าน ไร้สาระ เป็นไปไม่ได้ เพ้อฝัน ปัญญาอ่อน ในขณะที่แม็กซ์ก็ชอบชุดนี้จับใจ

ดังนั้นมันไม่สำคัญเลยว่าหนังสือจะเป็นแนวไหน ขอให้ชอบ ก็อ่านกันได้ทั้งนั้นล่ะค่ะ

และนี่เป็นสถิติที่เอามาให้ดูกัน เป็นผลงานร่วมกันระหว่างแม็กซ์และเพื่อนคนนึง (ที่ไม่ประสงค์ออกนาม) เป็นการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับแนวการเขียนของนักเขียนแต่ละสำนักพิมพ์ว่ามี สัดส่วนการเขียนเรื่องแนวไหนมากกว่ากันบ้าง ขอบอกว่าข้อมูลพื้นฐานไม่ได้มาจากนักเขียนทุกคน แต่เฉพาะนักเขียนของสนพ.นั้น ๆ ที่แม็กซ์และเพื่อนอ่านกันอยู่ (และตั้งใจจะซื้อกันอ่านต่อไป)

จะเห็นได้ว่าแต่ละสนพ.มีจุดเด่นแตกต่างกันไป อย่างสนพ.เอว่อนก็เชี่ยวชาญแนวย้อนยุค ซึ่งถือว่าเป็นแนวหลักหากินของเขาอยู่ แต่ในระยะหลังก็พยายามทำตลาดในแนวพารานอล และอีโรติค โรแมนซ์ด้วย เห็นได้จากการออกอิมพรินต์ที่ชื่อว่าอีรอส (แนวพารานอมอล) และเอว่อน เรด (อีโรติก โรแมนซ์)

และถ้าเอาประเภทอีโรติค โรแมนซ์ และแบบผสม (นักเขียนเขียนหลายแนวมาจนแบ่งไม่ออก) มาแยกให้เป็นสามประเภทหลัก ก็จะได้สถิติอย่างนี้

จะเห็นว่าเป็นไปตามเทรนด์ที่ว่าแนวย้อนยุคแม้จะไม่ค่อยได้รับความนิยมเทียบ กับสองแนวที่เหลือ แต่ก็กำลังตีตื้นขึ้นมา (เพราะสถิติที่แม็กซ์เก็บกะเพื่อนเมื่อสามปีก่อน ตัวเลขมันชั่วร้ายกว่า 28% เยอะ แต่เปอร์เซ็นต์ของแนวพารานอมอลก็สูงขึ้นมาจนเกือบจะเท่ากับแนวปัจจุบันแล้ว ทั้งที่แต่ก่อนแนวปัจจุบันนำโด่งโลด)

ขอย้ำอีกรอบสถิติที่เก็บมา มาจากเฉพาะงานของนักเขียนที่แม็กซ์และเพื่อนอ่านเท่านั้นนะคะ นักเขียนบางคนที่พวกเราไม่ได้อ่านกัน อย่างงานของคาโรล มอร์ติเมอร์งี้, จู๊ด เดเวอร์โรห์งี้ ก็ไม่ได้เอามารวมนะคะ

No comments: