หลังจากพูดถึงเรื่องดีดี สนุก ๆ ของงาน RT มาเยอะ ก็ลองมาฟังด้านมืดบ้างแล้วกัน มันไม่ได้เลวร้ายอะไรมากหรอกนะคะ แค่เป็นความเห็นของแม็กซ์ในฐานะ "คนนอก" ที่มองงานนี้
ถ้าทุกคนลองหาอ่านข้อมูลเกี่ยวกับงานหนังสืออันนี้ตามอินเตอร์เน็ต ข้อมูลส่วนใหญ่ที่คุณได้ก็จะเป็นทางบวก ความสนุกของงาน ความใจดีของนักเขียน มิตรภาพที่ก่อเกิด
แม็กซ์ไม่ได้บอกว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นหรอกนะคะ ทั้งหมดมีอย่างที่โฆษณา และพูดถึงกัน
สิ่งที่แม็กซ์ไม่ชอบจากงานนี้มาก ๆ ก็คือ การปฏิบัติต่อคนที่มาร่วมงานอย่างแตกต่างกัน มันไม่ใช่การเหยียดผิดที่แม็กซ์เป็นคนเอเชียหรอกนะคะ แต่เป็นเพราะฐานะที่คุณลงทะเบียนไปมากกว่า แม็กซ์ไม่รู้ว่าคนที่ลงทะเบียนในฐานะ "นักอ่าน" คนอื่นจะรู้สึก หรือรับรู้ความจริงเรื่องความไม่เท่าเทียมนี้หรือไม่ แต่แม็กซ์ซึ่งมีเพื่อนร่วมห้องที่ลงทะเบียนเป็น "เจ้าของร้านหนังสือ" รู้ และไม่ชอบอย่างมาก
และแม้จะเข้าใจว่าทำไม "เจ้าของร้านหนังสือ" ถึงได้รับการปฏิบัติอย่างวีไอพี ในขณะที่ "นักอ่าน" เป็นเพียงคนธรรมดา (ทั้งที่ผู้มาร่วมงานไม่ว่าในฐานะใด ก็เสียค่าลงทะเบียนเท่ากัน) แต่ก็ไม่ได้ทำให้แม็กซ์นึกชื่นชมระบบศักดินานี้ขึ้นมาหรอกนะคะ
มาจาระนัยถึงความ "ไม่ชอบใจ" ที่แม็กซ์รู้สึกกันค่ะ
แม็กซ์ไปงานครั้งนี้พร้อมเพื่อนอีกสองคน คนนึงไม่ร่วมงาน เพียงแค่พักที่โรงแรมเดียวกัน (แต่เธอจ่ายเงินมาร่วมงานตอนกลางคืน) ส่วนอีกคนลงทะเบียนในฐานะเจ้าของร้านหนังสือ พวกเราสามคนมีนิสัยที่เหมือนกันอย่างมากในเรื่องความเป็นตัวของตัวเอง ฉะนั้นไม่มีหรอกนะคะ ประเภท เธอไปไหน ฉันไปด้วย พวกเราต่างคนต่างเดิน วันทั้งวันแทบไม่เจอหน้ากัน เพราะความสนใจมันต่างกัน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเมื่อถึงงานเลี้ยงอาหารแม็กซ์จะเดินเข้าไปในงาน กับเพื่อนใหม่ที่พบกันตอนกลางวัน
และสิ่งที่แม็กซ์ได้เจอในงานเลี้ยงอาหารกลางวันมื้อแรก (ซึ่งเฮเลน ร็อธเบิร์คเป็นเจ้าภาพ) ก็คือที่นั่งมีไม่พอกับจำนวนคนที่ไปร่วมงาน สุดท้ายแม็กซ์ก็ต้องเดินออกเพื่อไปซื้อแฮมเบอร์เกอร์จากร้านฟาส์ทฟู้ดข้าง โรงแรมมากิน หลายคนบอกว่า มันไม่ใช่ความผิดของ RT ผู้จัดงาน เป็นความผิดของโรงแรม แต่แม็กซ์โทษ RT นะ ในฐานะคนจัด เขาต้องรู้ว่าจะมีคนมาร่วมงานกี่คน อย่างเลวที่สุดก็ต้องเตรียมโต๊ะอาหารให้พอกับคนที่มางาน
ความแตกต่างระหว่าง "นักอ่าน" และ "เจ้าของร้านหนังสือ" มันเริ่มปรากฎก็งานวันนี้ล่ะ เพราะแม็กซ์รู้จากเพื่อนว่า มีการจองโต๊ะอาหารให้กับกลุ่ม "เจ้าของร้านหนังสือ" เพื่อเป็นการแน่ใจได้ว่า เจ้าของร้านหนังสือจะมีโต๊ะนั่ง
เชื่อไหมคะว่า หลังจากวันนั้น แม็กซ์กลายร่างเป็นหุ้นส่วนในร้านหนังสือของเพื่อน และได้รับการต้อนรับที่ดีระดับวีไอพีนับจากนั้น
แต่นั่นคือการโกหก ทำไม RT ไม่สร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นล่ะ ทำไมต้องทำให้คำโกหกกลายเป็นสิ่งจำเป็น
เรื่องการจองโต๊ะอาหารให้กับเจ้าของร้านหนังสือไม่ใช่สิ่งเดียว บรรดาของฟรีที่โฆษณาว่าแจกไม่อั้นในงาน แม็กซ์ยืนยันว่าแจกจริง และใจดีจริง แต่เบื้องหลังที่หลายไม่รู้ก็คือ "เจ้าของร้านหนังสือ" ได้รับหนังสือโดยไม่ต้องไปยืนเข้าแถว แบมือขอเหมือนเด็กอนุบาล พวกเขาได้รับชนิดต้องแอบเอาไปโยนทิ้ง เพราะขนกลับมากันไม่หมด ในขณะที่นักอ่านต้องตบตีแย่งชิงกันมันส์มาก
แล้วยังงานเลี้ยงที่เฉพาะเจ้าของร้านหนังสือเท่านั้นที่มีสิทธิเข้าร่วมอีกล่ะ
แม็กซ์สนุกไปกับงานนี้นะคะ แต่ไม่รู้ว่าที่สนุกเป็นเพราะแม็กซ์โชคดีกว่า "นักอ่าน" คนอื่น เพราะบังเอิญมีเพื่อนเป็นเจ้าของร้านหนังสือรึเปล่า เพราะนั่นทำให้แม็กซ์มีโต๊ะกินข้าวโดยที่ไม่ต้องแย่ง ได้ของฟรีโดยที่ไม่ต้องเข้าแถว และได้รับการปฏิบัติจากนักเขียนหลายคนราวกับเป็นเจ้าหญิง เพราะเข้าใจผิดว่าแม็กซ์เป็นเจ้าของร้านหนังสือ
เรื่องนักเขียนปฏิบัติต่อเจ้าของร้านหนังสืออย่างดี แม็กซ์ไม่เอามาเป็นประเด็นนะคะ เพราะนักเขียนก็เสียเงินค่าลงทะเบียนมาในงานนี้เช่นกัน เขาก็ต้องย่อมเลือกที่จะใช้ประโยชน์ของงานเพื่อความก้าวหน้าของอาชีพ การเอาใจเจ้าของร้านหนังสือเป็นสิ่งที่สมควรทำ เพราะอย่างที่แม็กซ์เล่าค่ะ แม็กซ์ไม่ได้รู้สึกว่า นักเขียนปฏิบัติต่อนักอ่านอย่างที่ "ด้อยกว่า"
ไม่เหมือนกับที่ RT ทำต่อนักอ่าน
ดังนั้นนี่จึงเป็นที่มาของคำตอบที่ว่า "แม็กซ์จะไปงาน RT อีกไหม" ซึ่งแม็กซ์ตอบว่า หากจะไป ก็คงไม่ในฐานะของนักอ่านอีก
แม็กซ์ไม่ชอบความไม่เท่าเทียมกัน (โดยเฉพาะเมื่อแม็กซ์จ่ายเงินค่าลงทะเบียนเท่ากับเจ้าของร้านหนังสือ)
นอกจากความไม่เท่าเทียมที่เล่าแล้ว งานก็สนุกสมกับที่ตั้งใจไปล่ะค่ะ โดยเฉพาะคนที่ได้เจอในงานที่ไนซ์มาก ๆ ทุกคนที่ได้เจอ มันอาจไม่เหมือนคำโฆษณาประเภทที่ว่า เราจะไปได้เพื่อนสนิทที่นั่นหรอกนะคะ แต่แม็กซ์ก็เป็นคนที่สนิทกับใครยากอยู่แล้ว แต่สำหรับคนแปลกหน้าที่เพิ่งเจอกัน ความเอื้ออาทรที่ให้แก่กัน มันล้นเหลือค่ะ
สุดท้ายก็จะจบบลอกก็เลยอยากขอบคุณหลายคน ๆ ที่ให้ความรู้สึกดีดีและประทับใจกับทริปครั้งนี้
โรส เพื่อนยากและเกือบจะเป็นเพื่อนตายหลายครั้ง ที่ยอมให้เรากลายเป็นหุ้นส่วนโดยที่ไม่ต้องทำอะไร ที่แนะนำให้เรารู้จักกับเรเน่ เบอร์นาร์ด และที่สำคัญเซเลส แบรดลีย์
มน ที่แนะนำให้เรารู้จักพิสต์เบิร์คในแง่มุมที่เฉพาะคนพิสต์เบิร์คเท่านั้นจะได้รู้จัก
โรสแมรี่ คนที่รู้จักทุกคนในวงการ และทำให้ชั่วเวลาสั้น ๆ แม็กซ์กลายเป็น "the IN crown"
เจซี ผู้อยากเป็นนักเขียน แม็กซ์เชื่อว่าเธอทำได้ ขอบคุณกับความน่ารัก และเป็นเพื่อนที่พิสูจน์ว่า เพื่อนไม่จำเป็นต้องมีอะไรที่เหมือนกัน ก็สนิทกันได้ (ถ้าคุณรู้จักแม็กซ์ ก็ลองนึกในด้านตรงข้ามทุกอย่าง และนั่นคือเจซี)
ทอม เพื่อนผู้รักกีฬาที่หาได้ยากยิ่งในหมู่ความบ้าอีกชนิดนึง ขอบคุณที่เล่าเรื่องแคมเดนยาร์ด และทำให้แม็กซ์ฝันว่า สักวันนึงจะต้องได้ไปเยือน และนั่งดูโอริออลในสนามนั้นให้ได้ ผู้เข้าใจว่าทำไมแม็กซ์ถึงโอดครวญยิ่งนักเมื่อรู้ว่าพิสต์เบิร์ค ไพเรตไม่ได้เล่นเกมในบ้านในสัปดาห์ที่แม็กซ์ไป
แมดเดลีน ฮันเตอร์ที่ใจดีเผื่อแผ่มาถึงเพื่อน ๆ ของแม็กซ์ เมื่อเราบอกเธอว่า มีแฟนหนังสือของเธออยู่ในเมืองไทยมากมาย และแต่ละคนก็ล้วนใจจดจ่อกับงานเล่มใหม่ของเธอ (ซึ่งแม็กซ์พูดไม่จริงร้อยเปอร์เซ็นต์หรอกนะคะ เพราะเท่าที่รู้ คนอยากอ่านเรื่องของคริสเตียนมากกว่า)
แจ็คเกอลีน แฟรงค์ที่น่ารักและเป็นกันเองมาก ขอบคุณสำหรับสำรับไพ่ชุดไนท์วอร์คเกอร์ที่เธอสั่งทำขึ้นเป็นพิเศษ แต่ก็ยังอุตส่าห์มอบให้แม็กซ์
เฮเลนเคย์ ไดมอนที่มอบของที่แม็กซ์คิดว่ามีค่าที่สุดที่ได้รับจากการเดินทางครั้งนี้ให้
โลอิส เกรแมนที่ใจดีกับคนต่างถิ่น และแนะนำให้รู้จักกับลูกชายสุดหล่อของเธอ (อันนี้แหละสำคัญ)
สำหรับคนที่อ่านแล้วคิดว่าสนุกดีน่าไป แม็กซ์ก็อยากจะชวนว่า ปีหน้าไปออสเตรเลียกัน เดือนกุมภาพันธ์ก็จะมีงานในลักษณะคล้ายคลึงกับงาน RT ที่เมลเบิร์น เดินทางใกล้ว่า และนักเขียนออสซีและนิวซีแลนด์ที่น่าสนใจก็มีมาก ลองคิดดู นักอ่านชาวเมกันเองยังแทบไม่มีปัญญาไปงานนี้เลย เราอยู่ใกล้นิดเดียว นั่งเครื่องบินแค่เก้าชั่วโมง (ถ้าแม็กซ์ไม่ผิดนะ)
No comments:
Post a Comment