Friday, January 23, 2009

In Cold Blood // Truman Capote

แม็กซ์เกิดอารมณ์อยากอ่านหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอย่างทันทีทันใด หลังจากดูหนังเรื่อง Capote ที่ฉายช่อง HBO เมื่อคืน มันเป็นความอยากอ่านที่เกิดขึ้นอย่างไม่ถูกกาลเทศะนัก เพราะกว่าหนังจะจบก็ปาเข้าไปเกือบตีสอง (หรือก็ประมาณนั้น) โชคดีว่าแม็กซ์มีหนังสือนี้อยู่ในครอบครองอยู่แล้ว

ด้วยแรงกระตุ้นบางอย่าง แม็กซ์ตัดสินใจหยิบเล่มนี้ขึ้นมา คิดว่าจะอ่านสักบทสองบท แล้วอ่านต่อในตอนเช้า ผลก็คือสี่ชั่วโมงต่อมา แม็กซ์เข้าใจว่าทำไมหลายคนถึงพูดว่าหนังสือเล่มนี้คือวิวัฒนาการที่สำคัญของ โลกหนังสือ

และที่สำคัญกว่านั้น มันช่วยให้แม็กซ์หลุดพ้นจากอาการหดหู่ที่เป็นอยู่ได้อย่างน่าทึ่ง เพราะปกติแม็กซ์จะมีอาการแบบนั้นราวสามวัน สามวันที่เอาแต่นอน กับนอน และนอน แต่เพราะหนังสือเล่มนี้ทำให้แม็กซ์เกิดมีพลังขึ้นมา โลกที่เคยดูว่าหม่น มันก็สดใสขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ

ดังนั้นแม็กซ์จึงรู้สึกว่า ควรจะพูดถึงหนังสือเล่มนี้บ้าง และมันไม่ใช่การรีวิวนะคะ แค่พูดถึงหนังสือเล่มนึงที่ได้ใจแม็กซ์ไปมาก ๆ

ว่ากันว่า In Cold Blood ได้ปฏิวัตวงการหนังสือ และสร้างแนวนิยายใหม่ให้กับเป็นที่รู้จักของนักอ่าน แนวที่เราเรียกกันว่า "True Crime Fiction" หรือแนวที่คาโปตี้เรียกเองว่า "Non-Fiction Novel"

หนังสือติดตามเหตุการณ์ฆาตกรรมหมู่ที่เกิดขึ้นในเมืองเล็ก ๆ ในแคนซัส การฆาตกรรมครอบครัวคลัตเตอร์สี่ศพ โดยฝีมือฆาตกรสองคน ริชาร์ด ฮิชค็อค และเพอรี่ เอ็ดเวิร์ด สมิท หนังสือเล่มนี้เป็นมากกว่าแค่การรายงานข่าว คาโปตี้ติดตามเรื่องราวของฆาตกร และปฏิกริยาของคนในเมืองที่ได้รับผลกระทบต่อการฆาตกรรม ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีหนังสือเล่มไหนที่ใช้แง่มุมนี้เลย (แม้ว่าปัจจุบันคนที่ติดตามอ่าน TCF ก็คงจะคุ้นเคยกันดีถึงวิธีการที่ใช้)

ที่น่าทึ่งก็คือ การเล่าเรื่องของคาโปตี้ แม็กซ์ตัดสินใจอ่านหนังสือเล่มนี้เพราะในภาพยนตร์เรื่อง Capote ที่ดู (ซึ่งเล่าชีวิประวัติของคาโปตี้ผ่านการเขียนหนังสือเล่มนี้) มีฉากนึงที่คาโปตี้ต้องอ่านบทแรกของหนังสือเล่มนี้ต่อสาธารณชน และในฉากการอ่านหนังสือเล่มนั้นในหนังก็มากพอแล้วที่จะทำให้แม็กซ์อยากอ่าน ส่วนที่เหลือของเรื่อง

มันเยือกเย็น น่ากลัว แต่ก็น่าติดตามในเวลาเดียวกัน

ทรูแมน คาโปตี้ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ คือคนเดียวที่เขียนเรื่อง Breakfast at Triffany แต่สำหรับคนที่ได้ดูแต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ แม็กซ์ก็อยากบอกว่าหนังและนิยายไม่คล้ายคลึงไปทั้งหมดทีเดียว นั่นเป็นเครื่องยืนยันว่า คาโปตี้เป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงมากขนาดไหนก่อนหน้าที่จะเริ่มเขียน In Cold Blood

แต่ก็เป็นเรื่องนี้ที่ทำให้เขาขึ้นสู่จุดสูงสุด (และอาจจะเป็นจุดที่เขาไม่อาจขึ้นไปเทียบได้อีก เมื่อคิดว่าเล่มนี้คือนิยายเล่มสุดท้ายที่เขาเขียนจบ) มันเปลี่ยนแปลงมุมมองต่อหนังสือ มันน่าทึ่ง และน่าสะอิดสะเอียนไปในเวลาเดียวกัน

แม็กซ์ไม่ใช่คนชนิดที่ชอบหยุดยืนดูเวลามีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้น แต่แม็กซ์ก็หยุดตัวเองจากการอ่านหนังสือเรื่องนี้จนจบไม่ได้ ทั้งที่แม็กซ์ก็รู้อยู่แล้วถึงชะตากรรมที่เกิดขึ้นในท้ายที่สุด และนี่คือเสน่ห์ของ True Crime Fiction ที่แม้คุณจะรู้ตอนจบแล้ว กระบวนการไปให้ถึงตอนจบต่างหากที่น่าสนใจ

ในอีกแง่นึง ที่แม็กซ์ได้มาจากหนังเรื่อง Capote เราได้เห็นกระบวนการเก็บข้อมูลของคาโปตี้ที่ดูแล้วก็ "เลือดเย็น" ไม่แพ้การฆาตกรรม มันดูเหมือนว่าคาโปตี้ช่วยฆาตกรทั้งสองในการอุธทรณ์คดี เพียงเพราะอยากให้พวกนั้นมีชีวิตอยู่นานพอที่จะเล่าเรื่องให้เขาฟัง เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเขียนหนังสือ แม้ในตอนท้ายเรื่องเราจะเห็นถึงผลกระทบต่อการกระทำนั้นทีมีต่อคาโปตี้ มันก็ไม่อาจลบความรู้สึกของแม็กซ์ลงได้

มุมมองของแม็กซ์ที่มีต่อ True Crime Fiction มันจึงเป็นอะไรที่สับสน In Cold Blood ไม่ใช่ TCF เล่มแรกที่แม็กซ์อ่าน แต่มันเป็นเล่มที่ติดอยู่ในใจ แต่พอแม็กซ์นึกถึงวิธีการในการได้ข้อมูลมาเขียน มันทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองมีส่วนร่วมในการกระทำที่เลวร้ายยิ่งกว่าการอ่าน

สำหรับคนที่ต้องการอะไรที่แตกต่าง อยากแนะนำให้อ่าน In Cold Blood แล้วมันจะทำให้คุณเห็นหลายอย่างในโลกที่มืดกว่าที่คุณคิด

No comments: