Visions of Heat by
Nalini Singh My rating:
3 of 5 stars นี่เป็นส่วนหนึ่งของการกลับมาอ่านใหม่อีกรอบเพื่อเตรียมตัวอ่านเรื่อง Heart of Obsidian นะคะ
เริ่มต้นด้วยการเอารีวิวที่เราเขียนไว้สมัยที่อ่านเล่มนี้ครั้งแรกมาแปะ จากนั้นเราจะพูดถึงความรู้สึกหลังจากอ่านเล่มนี้อีกรอบ
ในเล่มสองของชุดเหนือจริงที่เล่าเรื่องราวของชนสามกลุ่ม มนุษย์ ไซ และชาวกลายร่าง ก็เป็นเรื่องความรักระหว่างระหว่างหนุ่มกลายร่าง พันธุ์เสือ กะสายชาวไซที่คราวนี้มีความสามารถพิเศษในเรื่องการทำนายอนาคต
เฟธ ไนท์สตาร์เป็นหนึ่งในคนจำนวนไม่มากนักที่มองเห็นอนาคต แต่ความสามารถของเธอถูกจำกัดไว้เฉพาะในเรื่องการทำนายอนาคตทางด้านธุรกิจเท่านั้น แต่แล้วลางส่อเค้าความล่มสลายของสังคมชาวไซก็มาถึงเมื่อเฟธเริ่มมองเห็นเหตุการณ์การฆาตกรรม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือน้องสาวของเธอ และเฟธรู้ดีกว่า เธอไม่อาจได้คำตอบที่เป็นจริงหากถามคนในเผ่าพันธุ์เดียวกับเธอ เพราะนั่นอาจหมายถึงการที่เธอต้องถูกส่งไปบำบัด (ซึ่งนั่นก็เทียบได้กับการถูกส่งไปโรงพยาบาลบ้า) ทำให้เธอดั้งดนไปพบกับซาซ่า ดันแคนชาวไซอีกคนที่ตัดขาดจากสังคมชาวไซออกไปอยู่กับกลุ่มกลายร่าง (หรือก็คือนางเอกเล่มหนึ่งนั่นเอง) และนั่นทำให้เธอได้พบกับวอห์น หนึ่งในผู้คุมกฎ (แม็กซ์ตั้งชื่อให้เอง เทียบกะหนังจีน) ของเผ่าเสือดำ ที่สอนให้เธอรู้จักความรู้สึก
ในสังคมชาวไซ ความสมบูรณ์แบบคือการไร้ความรู้สึก เพราะความรู้สึกเป็นบ่อเกิดแห่งความรุนแรง เป็นอารมณ์ที่ชาวไซไม่อาจควบคุมตัวเองได้ ความเย็นชา และความเงียบคือหนทางออกของชาวไซ ซึ่งในเล่มนี้ก็เริ่มเผยให้เห็นแล้วว่า ความเชื่อนั้นไม่เป็นความจริงเลยสักนิด
และในเล่มนี้อีกเช่นกันที่เผยให้เห็นความแตกแยกของชาวไซ เราเริ่มรับรู้ถึงกลุ่มต่อต้านที่ต้องการล้มล้างระบบความเงียบ การต่อต้านที่เฟธถูกดึงเข้าไปเกี่ยวอย่างไม่รู้ตัว
เล่มนี้มีความเหมือนกะชุดคาร์พาเธียนของคริสตีน ฟีแฮนบ้างเมื่อวอห์นพระเอกออกอาการแวมไพร์ขี้หวง ประเภทมองเห็นหน้านางเอกครั้งแรกก็รู้ว่า นี่คือคู่ของตน แต่ด้วยปลายปากกาของนรินีก็ทำให้ดูไม่น่ารำคาญ และไม่งี่เง่าจนเกินไป แม็กซ์ชอบที่วอห์นไม่ยอมรับว่าเฟธบอบบางหรืออ่อนแอ ซึ่งต่างจากพระเอกโรแมนซ์ทั่วไปที่พบเห็นในเล่มอื่น วอห์นรู้ว่าเฟธเข้มแข็งกว่านั้น และเขาก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เธอเข้มแข็ง เป็นผู้หญิงที่คู่ควรกับเขา
พล็อตเรื่องนี้ไม่มีอะไรมาก ซึ่งต่างจากเล่มแรกที่ยังมีพล็อตในส่วนของการฆาตกรรมเข้ามาเกี่ยว แต่ในเล่มนี้เป็นเรื่องของความขัดแย้งภายในล้วน ๆ เป็นเรื่องการตัดสินใจของเฟธที่ต้องละทิ้งทุกอย่างที่ตนเองรู้จัก เพื่อผู้ชายที่เธอแทบไม่รู้จักเลย
และก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า นลินีมีความสามารถเพียงใดในการเขียนเรื่องที่แตกต่างกันในมุมมองได้ออกมาดีไม่แพ้กัน
คะแนนที่ 75
เช่นเดียวกับการอ่านเล่มแรก (Slave to Sensation) ใหม่อีกรอบ เราไม่อ่านเล่มนี้โดนเน้นไปที่ส่วนของโรแมนซ์ แต่เป็นการจับใจความพล็อตในภาพรวมของชุด
เรารู้สึกถึงความเหมือนกันหลายอย่างระหว่างเล่มนี้กับ Slave to Sensation และนั่นทำให้เล่มนี้ด้อยลงไป ความกดดันในแง่ของความสัมพันธ์ที่อาจจะไปกันไม่รอด เราจับจุดงานเขียนของนลินี ซิงห์ได้ ส่วนที่บีบหัวใจเราที่สุดก็คือ การแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แม้พระเอกนางเอกจะรักกันมากแค่ไหน แต่บางครั้งความรักอาจจะไม่เพียงพอ ในเล่มแร ซาซ่าจะต้องตัดตัวเองออกจากไซเน็ต ซึ่งหมายความถึงความตายอย่างแน่นอน จุดนั้นสร้างแรงกดดันให้กับเราตอนที่อ่านอย่างยิ่ง แต่พอมาในเล่มนี้ เนื่องจากสถานการณ์ของเฟธไม่ได้แตกต่างออกไปจากซาซ่าเลย เธอคือชาวไซที่มีความสามารถระดับคาร์ดินัล (นั่นคือสูงจนไม่อาจวัดค่าพลังได้) และเธอตกหลุมชาวเชนจิ้งค์ และจะต้องตัดตัวเองออกจากไซเน็ต แต่เนื่องจากคนอ่านอย่างเรารู้แล้วว่า มันมีทางออก เฟธจะรอดตายเพราะมีเครือข่าย Web of Stars อยู่ ทำให้ประเด็นนี้ไม่ได้กดดัน หรือบีบหัวใจให้เราทุ่มอารมณ์ลงไปที่ตัวเอกคู่นี้เท่ากับที่เรารู้สึกกับซาซ่าและลูคัส
แน่นอนว่า มีประเด็นเรื่องการที่เฟธจะต้องโดนตามล่า เพราะบังอาจตีจากไซเน็ต แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่ไร้ทางออกโดยสิ้นเชิง เพราะเมื่อพูดถึงการใช้กำลัง เรามั่นใจความสามารถของเผ่าดาร์คริเวอร์ว่าสู้ได้แน่ (มันเป็นเรื่องของการจนหนทางที่จะช่วยอย่างในกรณีของซาซ่า หรือข้ามไปในกรณีของเคทยา จากเรื่อง Blaze of Memory จะชัดเจนที่สุด)
ในแง่ของพล็อตภาพรวมเล่มนี้เปิดเผยครั้งแรกกว่า มีอะไรมากกว่าแค่การที่ซาซ่าถอนตัวออกจากไซเน็ต ในขณะที่เรื่อง Slave to Sensation เป็นการแนะนำให้คนอ่านได้รู้จักโลกในหนังสือชุดนี้ เล่มนี้ได้ขยายโลกให้กว้างขวางออกไป ทำให้คนอ่านรับรู้ถึง พลังบางอย่างที่อยู่เบื้องหลังเรื่องราวทั้งหมด ทำไมชาวไซจึงกลายเป็นนักฆ่า เป็นฆาตกรต่อเนื่อง และไม่ใช่แค่ซาซ่าและเฟธเท่านั้นที่เริ่มมีความรู้สึก มีขบวนการบางอย่างเกิดขึ้น เราอาจจะยังเห็นภาพไม่ชัดเจนในเล่มนี้ แต่รับรู้แล้วว่า มีบางอย่างมากกว่าที่เห็น
เล่มนี้ยังไม่มีโกสต์ แต่เป็นครั้งแรกที่กล่าวถึงเคเลบ ที่ออกมาแบบกึ่งตัวร้าย และนี่คงเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาติดอยู่ในความทรงจำของเราตั้งแต่อ่านเล่มนี้ การกลับมาอ่านใหม่อีกครั้งทำให้เราได้ข้อมูลเกี่ยวกับเขาที่เราหลงลืมไป บอกตามตรงนะคะ เราคิดว่าเคเลบจะอายุเยอะกว่านี้ (แค่ยี่สิบเจ็ดปีในเล่มนี้ และยี่สิบเก้าปีในเล่มล่าสุด) ประวัติที่อ่านแล้วทำให้ขนลุก แต่ก็น่าทึ่ง ทำให้นึกถึงพระเอกแนวของแอนน์ สจ๊วตหน่อย ๆ ถือว่าเป็นตัวละครที่ทรงพลังมากสำหรับคนที่แทบจะไม่มีบทพูดในเรื่องเลยด้วยซ้ำ
และแน่นอนว่า ยังไม่มีอะไรรับประกันว่าเขาจะเป็นฝ่ายคนดีด้วยซ้ำ (แต่ได้ใจของเราไปแล้ว)
ใจความสำคัญอีกอย่างก็คือ เล่มนี้เปิดเผยตัวตนของเน็ตมายด์ สิ่งมีชีวิตที่เกิดจากไซเน็ต (เสมือนความคิดของชาวไซทั้งหมดก่อตัวขึ้นมา) และที่น่าหวาดกลัวยิ่งกว่า ตัวตนของดาร์คมายด์ ด้านมืดของเน็ตมายด์ที่แยกตัวออกมา เพราะกระบวนการไซเลนซ์ เราชอบวิธีการอธิบายของคนแต่งในจุดนี้มากนะคะ เปรียบเทียบดาร์คมายด์เหมือนเด็กที่เรียกร้องความสนใจ เพราะไซเลนซ์ทำให้ตัวตนของมันหายไป ทางออกเดียวก็คือ สร้างฆาตกรโหดเหี้ยมขึ้น เพื่อให้ตัวตนของมันถูกรับรู้
อ่านใหม่ครั้งนี้กลับกันนะคะ เราชอบเล่มแรกมากกว่าเล่มนี้ แต่ในความหมายที่ว่า เราชอบเล่มนี้ไม่น้อยค่ะ ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะว่า เราไม่ได้โฟกัสการอ่านที่ความเป็นโรแมนซ์เท่าไหรนัก และเล่มนี้ค่อนข้างทุ่มเวลาให้กับความสัมพันธ์ของเฟธและวอห์นมาก
คะแนนที่ 73
View all my reviews
No comments:
Post a Comment