เนื่องจากเป็นวันหยุดเราจึงมีเวลาคิดเรื่องไร้สาระได้มากกว่าวันทำงาน ก็เลยนั่งคิดถึงเรื่องที่อันที่จริงก็ไม่เกี่ยวกะเราเท่าไหร แต่ด้วยนิสัยสอเรื่องชาวบ้านก็เลยอดไม่ได้ที่จะแสดงความเห็น
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมามีกระทู้ที่บอร์ดแห่งหนึ่งพูดในทำนองต่อว่าสำนัก พิมพ์แห่งหนึ่งที่ซื้อลิขสิทธิ (มีคนเตือนมาค่ะว่าคำว่าลิขสิทธิไม่ต้องใส่ตัวการันต์ ก็เลยแก้เริ่มจากบลอกนี้ ส่วนของเดิมช่างมันนะคะ ขี้เกียจแก้) งานของนักเขียนคนหนึ่งที่อีกสำนักพิมพ์หนึ่งทำอยู่เป็นประจำ คนที่ไม่รู้ต้นชนปลายมาก่อนก็คงจะงง ว่าไอ้นี่พูดเรื่องอะไร แต่ที่น่าสนใจก็คือสำนักพิมพ์ที่ทำก่อนไม่ได้ซื้อลิขสิทธิน่ะสิคะ อย่างนี้คนที่มาทีหลัง (ซึ่งมักถูกมองว่าเป็นคนผิด) เขาผิดหรือเปล่า
เรื่องมันมีอยู่ว่า สำนักพิมพ์แห่งหนึ่งซื้อปกติแล้วก็ออกงานนิยายแปลเป็นประจำ แต่ชนิดที่ไม่ได้ซื้อลิขสิทธิเป็นเรื่องราว แต่ทำงานในระดับที่ลูกค้ายอมรับทั้งในเรื่องคุณภาพและราคา ออกงานแนวรักโรแมนติกของนักเขียนคนหนึ่งมาหลายเล่ม เรียกว่างานส่วนใหญ่ของนักเขียนคนนี้ถูกสำนักพิมพ์นี้ทำจนเกือบหมด แต่แล้วในงานสัปดาห์หนังสือ (อ้อขอบอนิดนึง เพราะโดนติงมากอีกว่า งานหนังสือเดือนตุลานี่ไม่ใช่งานสัปดาห์หนังสือนะ เค้าชื่องานมหกรรมหนังสือต่างหาก) ครั้งก่อนสำนักพิมพ์ทุนปึกจากค่ายเทปก็ออกงานเล่มใหม่ล่าสุดของนักเขียนคน นี้ โดยติดต่อซื้อลิขสิทธิถูกต้อง
เสียงตอบรับนั้นเหรอ ถ้าดูจากกระทู้ที่เราได้อ่านก็คือได้ก้อนอิฐก้อนมหึมา ทั้งในเรื่องคุณภาพการแปลที่นักแปลแปลเรื่องรักโรแมนติกไปเป็นเรื่อง วรรณกรรมไก่ (chic lit) เราเองไม่ได้อ่านนะคะ อันนี้เป็นความเห็นชาวบ้าน เราไม่รู้ค่ะ แต่เราว่าก็น่าเป็นได้ เพราะดูชื่อนักแปลแล้ว คิดว่าชีวิตนี้คุณเธออาจจะไม่เคยอ่านหนังสือโรแมนซ์เลยด้วยซ้ำ รวมทั้งยังโดนเรื่องราคาที่แพงยิ่งกว่าหนังสือภาษาอังกฤษเสียอีก (แต่ข้อนี้อาจไม่ตรงนัก เพราะตอนที่หนังสือฉบับภาษาไทยออกขายนี่ ภาษาอังกฤษยังเป็นปกแข็งอยู่ ราคาภาษาอังกฤษจึงแพงกว่า แต่ปัจจุบันเรื่องปกอ่อนออกแล้ว ราคาภาษาไทยก็เลยกลับมาแพงกว่าอีก) หลายคนออกความเห็นในแนวที่ว่า น่าจะปล่อยให้สำนักพิมพ์เดิมทำจะดีกว่า แล้วสำนักพิมพ์นั้นอยากทำก็ให้ไปหานักเขียนใหม่ ๆ ทำแทน
แต่ถ้ามองอีกมุมนึง เขาผิดด้วยหรือที่เล่มตามกฎ ซื้อลิขสิทธิอย่างถูกต้อง เรื่องราคาที่แพงขึ้นมาก็ช่วยไม่ได้นี่ มีค่าลิขสิทธิด้วย
ถ้าเป็นสมัยก่อนต้องไปออกรายการมองต่างมุม แต่สมัยนี้คงต้องเป็นถึงลูกถึงคน บังเอิญว่าเรื่องนี้มันเล็กเกินกว่าใครจะสนใจ สุดท้ายก็เลยกลายเป็นบลอกของแม็กซ์ตรีม
เรามองว่าสำนักพิมพ์ไม่ผิดที่ซื้อหนังสือมีลิขสิทธิ แต่ไม่เหมาะสมเท่าไหรที่ไปแย่งที่ทำมาหากินของคนอื่น แต่นี่ก็เป็นเรื่องของธุรกิจ ถ้าคุณเปิดช่อง ในที่นี้ คุณเลือกที่จะทำงานอย่างไม่ถูกต้องกฎหมาย คุณก็ต้องยอมรับผลอันนั้นเอง
ถ้าสำนักพิมพ์ไพเรตอยากสู้ หรือปกป้องสิทธิของตัวเองที่อุตส่าห์ทำตลาดให้งานของนักเขียนคนนี้ คราวหน้าคราวหลังก็ควรคิดจะซื้อลิขสิทธิ คุณเองก็ได้ประโยชน์ไปไม่น้อยแล้วกับการทำงานโดยไม่มีต้นทุนส่วนนี้
สิ่งที่สำคัญสำหรับเราในเรื่องลิขสิทธิ
1. ระวังอย่าให้เกิดสงครามแย่งหนังสือกัน จนสุดท้ายฝรั่ง/ญี่ปุ่น/เกาหลี หรือชาติอื่นได้ประโยชน์ ยิ่งแย่งกันเท่าไหร เขาก็โก่งราคาได้เท่านั้น สุดท้ายจะกลับไปเหมือนยุคที่ราคาลิขสิทธิโคตรแพงจนไม่มีหนังสือออกขายเลย หรือออกมาก็ในราคาแพงโคตร จนอ่านภาษาอังกฤษยังถูกกว่า
2. เลือกคนแปลกันหน่อย เราเห็นหนังสือดีที่คนแปลชั่วมาเยอะมาก ถ้าคุณมีเงินถุงถังซื้อลิขสิทธิมาแล้ว ก็ลงทุนกะนักแปลหน่อย และหาบรรณาธิการเก่งมาตรวจต้นฉบับ เราเห็นหนังสือดีบรรลัยเพราะคนแปลมาเยอะแล้ว เสียดายหนังสือค่ะ
3. สำหรับพวกไพเรตก็ควรทำงานอย่างให้เกียรติชาวบ้านเขาหน่อย ไม่ใช่เห็นว่านักอ่านเป็นพวกหื่นกามก็เลยเติมฉากเซ็กซ์ลงไป (หรือถ้าอยากเติมก็หาฉากที่มันตื่นเต้นหน่อย ไม่ใช่ทำแบบเดิมซ้ำไปซ้ำมา เดี๋ยวคนเขาจะหาว่าพระเอกไม่มีพลิกแพลง) อีกอย่างเรื่องเปลี่ยนชื่อนี่ ขอบอกว่าทุเรศค่ะ เปลี่ยนก็ไม่ตรงกะยุคสมัย ยุคโบราณเปลี่ยนชื่อคนสมัยนี้ไปเฉยเลย หรือประเภทเห็นหนังสือของคนแต่งคนไหนดัง ก็เอาหนังสือของคนแต่งคนอื่นมาย้อมแมวบอกว่าเป็นของคนเดียวกันเนี่ยก็ทุเรศ อีก อยากจะบอกว่าเอาเปรียบชาวบ้านเขาด้วยการไม่ซื้อลิขสิทธิแล้ว ก็อย่าทำตัวทุเรศมากนัก เคารพงานของคนแต่งเขาบ้าง เอาหนังสือเขามาหากินแล้ว อย่าทำเหมือนตัวเองมีความสามารถแต่งหนังสือเองได้ ถ้าคิดว่าตัวเองแต่งหนังสือเป็น ก็ไปเขียนนิยายซะ ไม่ต้องมาแปลหนังสือ
No comments:
Post a Comment